โควิด-19 ทำคนอเมริกันกว่าสองในสามนอนได้ไม่ถึง 7 ชั่วโมง

man sleeping / sleep

Your browser doesn’t support HTML5

Covidsomnia


มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างการเกิดโรคระบาดใหญ่กับการนอนไม่หลับจากการที่ผู้คนเป็นกังวลนับตั้งแต่เรื่องสุขภาพ การเงิน การงานและการใช้ชีวิต โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่อธิบายว่ากิจวัตรประจำวันที่ต้องเปลี่ยนไป เช่น การไม่ได้แต่งตัวออกจากบ้านไปทำงาน ไม่มีการไปส่งหรือรับลูกที่โรงเรียน และการใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านล้วนทำให้วงจรนาฬิกาชีวิตของเราต้องเสียสมดุลย์

นอกจากนั้นการทำงานอยู่กับบ้านนานๆ โดยไม่ได้รับแสงตามธรรมชาติและการรับแสงสีฟ้าจากหน้าจอมากขึ้นก็ทำให้สมองผลิตเมลาโทนินน้อยลงและมีผลต่อวงจรรวมทั้งคุณภาพของการนอนด้วย

และถึงแม้แพทย์อย่างเช่นพ.ญ. เจนนิเฟอร์ มาร์ตินแห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย นครลอสแองเจลิสจะอธิบายว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าความเครียดหรือภัยคุกคามใกล้ตัวทำให้มนุษย์ต้องเตรียมพร้อมและนอนไม่หลับ เพราะมิฉะนั้นมนุษย์อาจต้องสูญพันธุ์ไปแล้วหากมัวแต่นอนหลับฝันดีเมื่อมีเสือมาป้วนเปี้ยนอยู่หน้าถ้ำนั้น

แต่การนอนไม่พอหรือมีคุณภาพการนอนที่ไม่ดีย่อมส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมอย่างแน่นอน ตั้งแต่เพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคไต เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นคุณภาพของการนอนยังมีส่วนสำคัญต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกายและความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจากการนอนน้อยก็อาจเป็นเหตุผลข้ออ้างของการไม่ออกกำลังกายอย่างที่ควรจะเป็นด้วย

แต่เมื่อเราเลือกสภาพแวดล้อมหรือภัยคุกคามไม่ได้ สิ่งที่อาจทำได้คือหาเทคนิควิธีเพื่อให้เรานอนพักผ่อนได้ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งปกติแล้วเราอาจหันหน้าพึ่งยาช่วยให้หลับเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน แต่แพทย์แนะนำว่าเราไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกินสองถึงสามสัปดาห์

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนบอกด้วยว่าวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง และข้อแรกสุดคือการลดหรือจำกัดการรับแสงสีฟ้าจากหน้าจออย่างน้อยหนึ่งถึงสองชั่วโมงก่อนเวลานอน รวมทั้งพยายามรับแสงสว่างจ้าตามธรรมชาติให้มากขึ้นระหว่างวันและควรใช้หลอดไฟแสงหรี่สีแดงในห้องนอนหรือตอนกลางคืน นอกจากนั้นเราควรทำห้องนอนให้เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนจริงๆ โดยไม่ใช้ห้องนอนเป็นห้องทำงานด้วยและทำให้แน่ใจว่าห้องนอนมืดสนิทรวมทั้งตั้งอุณหภูมิในห้องไว้ที่ระดับราว 18 องศาเซลเซียส

คำแนะนำต่อไปก็คือเราควรลุกจากเตียงถ้าตื่นขึ้นมาแล้วไม่สามารถหลับต่อได้ในเวลา 15 ถึง 30 นาทีและหันไปทำกิจกรรมเบาๆ อย่างอื่นแทน เช่น อ่านหนังสือและกลับไปนอนอีกครั้งเมื่อรู้สึกพร้อมแล้ว ส่วนการออกกำลังกายระหว่างวันก็จะช่วยให้นอนหลับสบายได้เช่นกัน

ท้ายที่สุดคุณเจนนิเฟอร์ มาร์ติน นักจิตวิทยาคลินิกของบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ชื่อ Big Health ในนครซานฟรานซิสโกแนะว่าถ้าเราจัดเวลาวันละ 20 นาทีเพื่อเขียนสิ่งที่เรากังวลหรือทำให้นอนไม่หลับลงบนกระดาษโดยทำอย่างนี้ในเวลาและสถานที่เดียวกันทุกวัน สมองจะได้รับการฝึกให้เรียนรู้ว่ามีสถานที่และเวลาสำหรับกิจกรรมผ่องถ่ายความกังวลดังกล่าว และเมื่อเราสามารถปลดเปลื้องความคิดที่รบกวนนี้ไม่ว่าจะเกี่ยวกับโควิด-19 หรืออะไรออกไปได้แล้วสมองและร่างกายก็จะพร้อมมากขึ้นสำหรับการพักผ่อนอย่างจริงจัง ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนี้ก็อาจคล้ายกับประเพณีการลอยกระทง คือเป็นการรวบรวมความโศกเศร้าหรือเรื่องไม่ดีทั้งหลายใส่กระทงแล้วปล่อยทิ้งไปนั่นเอง