Your browser doesn’t support HTML5
ในระหว่างที่หลายคนกำลังสงสัยกับชื่อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ชนิดต่างๆ ที่มีการค้นพบใหม่ว่าควรลงเอยด้วยชื่อใดกันแน่ จะเรียกว่า โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ B.1.351 ล่าสุดองค์การอนามัยโลก ผลักดันการใช้อักษรกรีก ในการขนานนามโควิดกลายพันธุ์ชนิดต่างๆ ทำให้โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จะได้รับชื่อใหม่ว่า เบต้า (beta)
เมื่อต้นสัปดาห์ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปลี่ยนชื่อโควิดกลายพันธุ์ชนิดที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญให้เป็นไปตามอักษรกรีก เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความซับซ้อนของชนิดไวรัสกลายพันธุ์ จากที่ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของไวรัสกลายพันธุ์แต่ละชนิดจะระบุทั้งตัวเลขและตัวอักษรที่ยากต่อการเรียกและจดจำ
อีกประเด็นสำคัญ ที่องค์การอนามัยโลกให้น้ำหนัก ในการปรับเปลี่ยนชื่อเรียกไวรัสกลายพันธุ์ คือ ปัญหาการเลือกปฏิบัติและตีตราประเทศที่พบการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เป็นครั้งแรก ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่า เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากปัญหาการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังผู้คนเชื้อสายเอเชีย ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส โควิด-19
การศึกษาที่เผยแพร่ใน American Journal of Public Health พบว่า ช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยเรียกโคโรนาไวรัส โควิด-19 ว่าเป็น “ไวรัสจีน” (Chinese virus) ในทวีตของอดีตผู้นำสหรัฐฯ เมื่อกลางเดือนมีนาคมปี 2020 ที่โควิด-19 ระบาดหนักในอเมริกา ส่งเสริมให้เกิดวาทกรรมแสดงความเกลียดชังคนเชื้อสายเอเชียพุ่งสูงขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ ขณะที่บรรดานักการเมืองสังกัดพรรครีพับลิกันต่างหยิบคำว่าไวรัสจีนขึ้นมากล่าวถึงในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาด้านความเกลียดชังและลัทธิสุดโต่ง จากมหาวิทยาลัย California State University วิทยาเขต San Bernardino พบว่า การทำร้ายคนเชื้อสายเอเชียในเมืองใหญ่ของอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 2019-2020 พุ่งสูงขึ้นถึง 146% และนี่เป็นรูปแบบพฤติกรรมที่นักประวัติศาสตร์มองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ฮาเวิร์ด มาร์เคิล (Howard Markel) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ จาก University of Michigan ให้ความเห็นว่า การหาแพะรับบาป และการกล่าวโทษผู้อื่น ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี ค.ศ. 1901 ที่มีการระบาดใหญ่ของกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic Plague) ในเมืองเคปทาวน์ แห่งแอฟริกาใต้ ชาวแอฟริกันผิวดำที่มีรายได้ต่ำในแอฟริกาใต้ ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนของพวกเขา และต้องไปอยู่ในศูนย์กักกันโรคระบาด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวในแอฟริกาใต้
อเล็กซานเดอร์ ไวท์ อาจารย์ด้านสังคมศาสตร์และประวัติศาสตร์ด้านการแพทย์ จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University ระบุว่า กาฬโรคเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวด้านการเหยียดเชื้อชาติและแบ่งแยกสีผิวชาติพันธุ์ โดยอ้างเหตุผลเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยภายในเมืองต่างๆที่เกิดการระบาดขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าต้นตอของโรคติดเชื้อเหล่านั้นมาจากที่ใดกันแน่
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ จาก University of Michigan ให้ทรรศนะเพิ่มเติมว่า เมื่อย้อนไปในช่วง ค.ศ. 1500 ลูกเรือของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจและผู้บุกเบิกเส้นทางเดินเรือชาวอิตาเลียน ได้ติดซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระหว่างเส้นทางกลับจากทวีปอเมริกาเหนือ จนเกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก
ในตอนนั้นคนอิตาเลียนเรียกเชื้อดังกล่าวว่า โรคฝรั่งเศส (French disease) ส่วนคนฝรั่งเศสเรียกชื่อโรคนี้ว่าโรคอิตาเลียน (Italian disease)
การกล่าวโทษกันช่วงโรคระบาดใหญ่ยังส่งต่อไปในหลายพื้นที่ที่มีความบาดหมางกัน อย่างเช่น ชาวรัสเซียเรียกโรคนี้ว่าโรคโปแลนด์ คนโปแลนด์เรียกว่าโรคเยอรมัน คนตุรกีเรียกโรคนี้ว่าโรคคริสเตียน เป็นต้น
อีกกรณีหนึ่ง คือ ไข้หวัดสเปน เมื่อปี ค.ศ. 1918 การระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ก่อนโควิด-19 จะถือกำเนิดและระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ในมุมมองของมาร์เคิล บอกว่า ไข้หวัดสเปนไม่ได้มาจากสเปน และมีรายงานการค้นพบว่าโรคดังกล่าวพบครั้งแรกที่ค่ายทหารในแคนซัส แต่ต้นตอที่แท้จริงของโรคนี้ยังคงเป็นปริศนามาถึงปัจจุบัน และว่าการค้นหา patient zero หรือผู้ติดเชื้อรายแรกนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แค่ในตำราเท่านั้น
ชื่อนี้มีที่มา
เมื่อปี ค.ศ. 2015 องค์การอนามัยโลก ได้ระบุแนวทางการระบุชื่อโรคติดเชื้อใหม่ ไม่เพียงแต่ต่อต้านการระบุพิกัดสถานที่ที่พบการระบาด แต่ยังแนะให้หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อของกลุ่มคนหรือสัตว์ เหมือนกรณีของไข้หวัดหมู หรือโรคลีเจียนแนร์ด้วย
เคนจิ ฟุกุดะ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ด้านความมั่นคงทางสาธารณสุข กล่าวถึงการระบุชื่อของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ว่า นี่อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับบางคน แต่ชื่อโรคติดเชื้อมีความสำคัญกับคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เราเคยเห็นชื่อโรคที่ยั่วยุให้เกิดการต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์หรือผู้คนต่างศาสนา ไปจนถึงการสร้างกำแพงขวางกั้นการเดินทาง การค้าขาย และการเข่นฆ่าผู้คนหรือสัตว์ต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรมจากสิ่งนี้ และเป็นผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง
องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำแนวทางการระบุชื่อโรคอุบัติใหม่ จากภาวะอาการที่เกี่ยวข้องของโรคนั้นๆ อย่างเช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ SARS (severe acute respiratory syndrome) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ AIDS (acquired immune deficiency syndrome) ซึ่งโรคเหล่านี้ได้ระบุชื่อก่อนที่อนามัยโลกจะกำหนดแนวทางดังกล่าว
ทางอนามัยโลก เพิ่มเติมว่า การระบุชื่อด้วยตัวเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคระบาดก็เป็นแนวทางที่ดีเช่นกัน เหมือนกับโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งย่อมาจาก coronavirus disease 2019
สำหรับกรณีของโควิดกลายพันธุ์ 2 สายพันธุ์แรกที่พบ ได้แก่ สายพันธุ์อังกฤษ และแอฟริกาใต้ จะระบุชื่อเป็น อัลฟ่า (alpha) และ เบต้า (beta) ตามลำดับ ส่วนแกมมา (gamma) จะใช้แทนโควิดกลายพันธุ์ที่พบในบราซิล และ เดลต้า (delta) เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย
ส่วนการกำหนดชื่อของโควิดกลายพันธุ์ชนิดอื่นๆ จะลดหลั่นกันไปตามระดับความรุนแรงในมุมมองของอนามัยโลก
ก่อนหน้านี้ อนามัยโลก เคยพิจารณาการใช้ชื่อต้นไม้ ผลไม้ ศาสนาที่ล้มหายตายจากไป หรือการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ ก่อนจะตัดสินใจใช้อักษรกรีก แต่ฝั่งนักวิทยาศาสตร์ยังคงใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น B.1.1.7 หรือ P.1. ตามเดิม