นักวิจัยพบหนึ่งในสามของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลมีปัญหาต่อเนื่องระยะยาว

Virus Outbreak US Surge

Your browser doesn’t support HTML5

Covid Survivors Long Term Symptoms

นักวิจัยด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันพบว่าราวหนึ่งในสามของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่มีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลยังมีอาการต่อเนื่องระยะยาว และโอกาสของปัญหาเรื้อรังนี้จะเพิ่มขึ้นตามระดับอายุด้วย

โดยการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open ฉบับออนไลน์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ได้พบว่าราว 33% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการรุนแรงถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลยังมีอาการเรื้อรังบางอย่างต่อไปอีกหลายเดือนหลังจากที่ไม่ตรวจพบเชื้อไวรัสนี้ในร่างกายแล้ว โดยอาการเรื้อรังที่ว่านี้มีเช่น การเหนื่อยล้า การไม่รู้กลิ่นหรือรส และอาการสมองตื้อ เป็นต้น

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันได้ข้อมูลดังกล่าวจากการติดตามผลผู้ป่วยในเขตนครซีแอตเติ้ล 177 คนซึ่งทุกคนล้วนแต่มีอายุค่อนข้างน้อย มีสุขภาพดี และส่วนใหญ่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงสำหรับการติดเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรง โดยกว่า 90% ของผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 นี้มีอายุเฉลี่ย 48 ปีและไม่มีใครมีอาการหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลระหว่างที่ติดเชื้อ

นักวิจัยพบด้วยว่าโอกาสความเสี่ยงของการมีอาการตกค้างเรื้อรังถึงแม้ร่างกายจะกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปได้แล้วจะเพิ่มขึ้นตามอายุ กล่าวคือในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 18 ถึง 39 ปีนั้น 27% รายงานว่ามีปัญหาสุขภาพบางอย่างตกค้างอยู่ และตัวเลขที่ว่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 40 ถึง 64 ปี และเป็น 43% สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า

ถึงแม้กลุ่มคนไข้ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันติดตามศึกษานี้จะมีค่อนข้างน้อยคือ 177 คนก็ตามแต่นายแพทย์โทมัส กัสต์จากโรงพยาบาล Staten Island University ในนครนิวยอร์กก็ชี้ว่าข้อมูลเรื่องอาการเรื้อรังดังกล่าวเป็นแบบแผนที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากคนไข้ในอังกฤษ แคนาดา และประเทศจีนโดยลักษณะอาการส่วนใหญ่ที่เรื้อรังและต่อเนื่องนั้นคือความเหนื่อยล้าและการเสียการรับรู้กลิ่นและรสอย่างละ 14% ส่วนอาการสมองตื้อหรือปัญหาเกี่ยวกับความจำนั้นมีอยู่ราว 2%

อย่างไรก็ตามนายแพทย์รวินทรา กาเนสจากเมโยคลีนิคได้ชี้ว่าอาการสมองตื้อถึงแม้จะมีสัดส่วนที่น้อยอยู่แต่ก็เป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับผู้ที่ต้องใช้สมองหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์ เพราะผลกระทบที่เรื้อรังหลังจากโควิด-19 คือการไม่สามารถทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้นานและแสงสว่างจ้าก็ทำให้ปวดหัวได้ด้วย และเกือบ 31% ของผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 บอกว่าตนมีคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแย่ลง

ขณะนี้วงการแพทย์ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าอะไรทำให้เกิดอาการเรื้อรังที่ว่านี้ แต่นายแพทย์โทมัส กัสต์อธิบายว่าเนื่องจากเชื้อโควิด-19 มีผลโดยตรงต่อระบบประสาทในจมูกของเราจึงเป็นไปได้ที่จะมีผลต่อโครงสร้างของสมองด้วย และว่าเชื้อโควิด-19 นั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างกว้างไกลแต่เราเพิ่งจะเริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมัน