Your browser doesn’t support HTML5
ภาวะการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในช่วงที่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินการของโรงพยาบาลในสหรัฐฯ ต้องปรับเปลื่ยนไปอย่างมาก ทั้งยังทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มพิจารณาทิศทางการให้บริการด้านสาธารณสุขจากนี้ไปด้วย
ทิม พัตนัม เปิดโรงพยาบาลเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตชนบทของรัฐอินเดียนา เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 โรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีเตียงผู้ป่วยเพียง 25 เตียงนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19
พัตนัม เจ้าของโรงพยาบาล Margaret Mary Health กล่าวว่าเขาเชื่อว่าในเมืองนี้มีจำนวนผู้ป่วยต่อจำนวนประชากรสูงกว่าที่อื่นๆ และเทียบเท่ากับที่นิวยอร์คเลยทีเดียว
ในจุดที่เลวร้ายที่สุดของการเกิดโรคระบาด เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของพัตนัม ต้องดูแลผู้ป่วยถึง 40 คน ปัญหาที่หนักที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการพยายามรักษาผู้ป่วยที่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานๆ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมาชิกชุมชนในท้องถิ่นหลายๆ คนพร้อมใจกันให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคหรือการทำหน้ากากอนามัยให้แก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ตัวแทนจำหน่ายรถ RV หรือรถที่อาศัยหลับนอนได้ในท้องถิ่นเสนอให้ใช้รถ RV นี้สำหรับการรักษาผู้ป่วยหรือเป็นที่นอนของเจ้าหน้าที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
เจ้าหน้าที่หลายๆ คนในโรงพยาบาล Margaret Mary Health ติดเชื้อโควิด-19 แต่ทุกคนก็หายเป็นปกติ
โรงพยาบาลทั่วสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกันนี้ในระหว่างการเกิดโรคระบาดใหญ่
ตอนนี้โรงพยาบาลในสหรัฐฯ หลายๆ แห่งยังคงให้ความสำคัญกับการให้บริการผู้ป่วยนอก หรือผู้ที่มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาแต่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
พัตนัมกล่าวว่า 83 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของทางโรงพยาบาลล้วนมาจากการรักษาผู้ป่วยนอก ด้วยเหตุนี้พื้นที่สำหรับผู้ป่วยในของโรงพยาบาลหลายๆ แห่งจึงไม่ถูกใช้งานก่อนที่จะเกิดวิกฤตสุขภาพโควิด-19
การเกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องคิดทบทวนว่าจะดูแลชุมชนให้ปลอดภัยและมีสุขภาพดีได้อย่างไร พัตนัมได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงพยาบาลเพื่อตระเตรียมโรงพยาบาลให้ดีขึ้นสำหรับภัยด้านสาธารณสุขครั้งต่อๆ ไป
จิม อัลเบิร์ต ผู้มีอาชีพออกแบบศูนย์ดูแลสุขภาพกล่าวว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ตอนนี้กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไปโดยบรรดานักออกแบบพยายามออกแบบพื้นที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่นการติดตั้งปลั๊กไฟบนผนังให้มากขึ้น หรือการเพิ่มขนาดท่อซึ่งอาจช่วยให้สามารถรองรับเครื่องช่วยหายใจได้มากขึ้น เป็นต้น
อัลเบิร์ตกล่าวว่า การวางแผนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณและช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่มากขึ้น เช่นในกรณีฉุกเฉินอาจจัดให้ผู้ป่วยสองคนอยู่ในห้องเดียวกันได้
ทั้งนี้ พัตนัม กำลังมองหาการออกแบบโรงพยาบาลที่สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยการออกแบบจะต้องไม่เป็นแบบที่ตายตัว ตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤตศูนย์กายภาพบำบัดอาจต้องกลายเป็นห้องผ่าตัด หรืออาจจะต้องเปลี่ยนสำนักงานให้เป็นพื้นที่สำหรับดูแลผู้ป่วย เป็นต้น
ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งสำหรับโรงพยาบาลหลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้นแล้วคือการป้องกันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงการออกแบบพื้นที่สาธารณะในโรงพยาบาล อย่างเช่นบริเวณที่นั่งรอ ผู้ป่วยอาจถูกขอให้รอในรถนอกอาคารจนกว่าจะเข้าพบหมอ หรืออาจมีการปรับให้พื้นที่ทั้งหมดของแผนกฉุกเฉินเป็นที่สำหรับใช้ในรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อเท่านั้น
อย่างไรก็ดี อัลเบิร์ต ผู้ออกแบบศูนย์ดูแลสุขภาพกล่าวว่าพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลอาจมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยจะมีคนจำนวนน้อยลงที่สามารถใช้พื้นที่ทำงานร่วมกันและอาจมีห้องพักผ่อนน้อยลง ส่วนคนงานที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์สามารถเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านได้
ความกังวลอีกประการหนึ่งคือเรื่องการระบายอากาศ ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีการนำอากาศจากภายนอกเข้ามาเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น แต่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ อัลเบิร์ตกำลังออกแบบอยู่นั้นจะออกแบบให้มีอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ในบางห้อง
นอกจากนี้แล้วทางโรงพยาบาลเองก็กำลังมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีจะได้ไม่ต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาล แผนการอย่างหนึ่งคือการให้มีการพบแพทย์ทางออนไลน์ได้มากขึ้น
พัตนัมและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคนอื่นๆ กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมชนจะต้องมีความพร้อมและยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ในครั้งต่อๆ ไปไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม นั่นคือเหตุผลที่ว่าเหตุใดการออกแบบศูนย์การแพทย์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้จึงมีความสำคัญ
พัตนัมกล่าวส่งท้ายว่า เขาคิดว่า การออกแบบสร้างโรงพยาบาลนั้นไม่ควรพุ่งเป้าไปเพื่อรับมือกับการเกิดโรคระบาดครั้งนี้ แต่ควรจะคำนึงถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ในอนาคตด้วย