งานวิจัยชี้ผู้แพร่เชื้อโควิด-19 โดยไม่แสดงอาการ อาจมีมากกว่าที่คิด!

People stand in line as they wait to get tested for COVID-19 at a just-opened testing center in the Harlem section of New York, Monday, April 20, 2020. Hundreds of thousands of New Yorkers would need to be tested for the coronavirus daily before…

Your browser doesn’t support HTML5

COVID Asymtomatic

ขณะที่ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเตือนประชาคมโลกว่า อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจเพราะสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ยังมาไม่ถึงนั้น ข่าวร้ายอีกด้านหนึ่งจากการศึกษาหลายชิ้นในช่วงหลังนี้ก็คือ มีผู้คนมากกว่าที่คาดไว้เดิมซึ่งติดเชื้อดังกล่าวและไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้

ศูนย์ควบคุมโรคหรือ CDC ของสหรัฐ เชื่อว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมีอยู่ราว 25% ในหมู่ประชากร ส่วนนักสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชื่อว่า ตัวเลขที่ว่านี้อาจสูงได้ถึง 30%

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ทั้งจากสถานพักพิงคนไร้บ้านในนครบอสตัน จากโรงพยาบาลที่นครนิวยอร์ก จากลูกเรือบนเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Theodore Roosevelt ของกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่ามีสูงถึง 40% รวมทั้งจากหลายประเทศในยุโรปด้วย

ถึงแม้ตัวเลขเกี่ยวกับผู้สามารถแพร่เชื้อโควิด-19 โดยไม่แสดงอาการในหมู่ประชากรอาจเป็นข่าวดีด้านหนึ่ง ในแง่ที่ว่าจะทำให้อัตราผู้เสียชีวิตโดยรวมจากการติดเชื้อไวรัสนี้ลดลง แต่ข่าวร้ายก็คือ การไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าใครที่สามารถแพร่เชื้อได้จะทำให้ความพยายามผ่อนคลายมาตรการจำกัดควบคุม และการกลับไปเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเมื่อก่อนนั้น มีปัญหาท้าทายมากขึ้น

โดยปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่ทราบข้อมูลอย่างชัดเจนเรื่องจำนวนผู้สามารถแพร่เชื้อโดยไม่แสดงอาการในสหรัฐนี้ คือการขาดการตรวจหาเชื้ออย่างจริงจัง กว้างขวางครอบคลุม และไม่ผิดพลาด ทำให้ยังขาดข้อมูลและภาพที่ชัดเจน

นายแพทย์ไมเคิล มีนา จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชื่อว่าตัวเลขประมาณการเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อทั่วโลกในปัจจุบันนี้เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อนอย่างสำคัญ

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาอธิบายว่า การแพร่เชื้อแบบแฝงโดยผู้ที่เป็นพาหะแบบไม่รู้ตัวนั้นมีอยู่สองลักษณะด้วยกัน แบบแรก คือผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยหรือไม่แสดงอาการใด ๆ จะสามารถแพร่เชื้อโควิด-19 ได้หลังจากเริ่มรับเชื้อแล้วราวสามถึงห้าวัน

ส่วนแบบที่สอง คือการแพร่เชื้อจนถึงจุดที่แสดงอาการออกมา ซึ่งเมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการป่วย เจ้าหน้าที่การแพทย์ก็จะสามารถกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อแบบไม่รู้ตัวต่อไป

ตัวอย่างของเรื่องนี้คือ ผู้โดยสารและลูกเรือของเรือสำราญไดมอนด์ พรินเซส ที่เกือบ 50% ไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาเลย ถึงแม้ว่าผลการตรวจเลือดจะเป็นบวกในชั้นแรก

และนอกจากความไม่เพียงพอของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในหมู่ประชากรแล้ว ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ ความน่าเชื่อถือของผลการตรวจ กล่าวคือ การตรวจหาเชื้อส่วนใหญ่ขณะนี้อาศัยเครื่องบ่งชี้ของไวรัสจากตัวอย่างที่ป้ายจากคอและจมูก แต่นักวิจัยก็เตือนว่า สำหรับบางคนที่ไม่มีอาการหรือไม่มีเชื้อไวรัสมากพอให้สามารถเก็บตัวอย่างได้ ผลตรวจจะเป็นลบในตอนแรก แต่ก็อาจกลายเป็นบวกได้ในภายหลัง

นอกจากนั้น ในขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับแอนติบอดีที่อาจบ่งชี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายหากเคยติดเชื้อ ก็ยังไม่ชัดเจนพอที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถมั่นใจได้ว่าภูมิคุ้มกันนี้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำสองได้หรือไม่ หรือหากช่วยได้ภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะมีผลอยู่ได้นานเท่าใด