Your browser doesn’t support HTML5
กลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเตือนว่ามาตรการควบคุมที่หลายประเทศในเอเซียนำมาใช้เพื่อยับยั้งการระบาดของ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มที่ด้อยโอกาสในสังคมมากกว่ากลุ่มอื่น โดย Human Rights Watch องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์กตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อปีที่แล้วหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ขณะที่พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน
โดยนาย Phil Robertson รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ Human Rights Watch กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 นี้เป็นเหมือนแสงไฟส่องทางซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ทัดเทียมและความเปราะบางของประชากรกลุ่มต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามควบคุมการระบาดของโควิด-19 เปิดโอกาสให้รัฐบาลของหลายประเทศเร่งใช้นโยบายและคำสั่งซึ่งมุ่งเป้าต่อกลุ่มที่โจมตีรัฐบาลหนักข้อมากขึ้นด้วย
ยกตัวอย่างเช่นในมาเลเซีย Human Rights Watch human ระบุว่าความพยายามควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาลกรุงกัวลาลัมเปอร์ส่งผลกระทบต่อกลุ่มชนชายขอบของสังคมมากกว่ากลุ่มอื่นใด เช่นแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยที่ต้องตกงานซึ่งมีอยู่ราวกว่า 3 ล้าน 5 แสนคนจากประชากรทั้งหมดราว 31 ล้านคนของมาเลเซียนั้นไม่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
ส่วนในเมียนมาบริการด้านสาธารณสุขก็ไปไม่ถึงประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่เขตชนบทของประเทศ ทั้งนี้ตามรายงานของ Asia Foundation เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นอกจากนั้นบริการด้านสุขภาพของรัฐบาลเมียนมาก็มักมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ด้วย
สำหรับในสิงคโปร์รัฐบาลสิงคโปร์ใช้วิธีแยกควบคุมตัวกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อโควิด-19 และจัดหาอาหารแห้งให้เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น และในประเทศไทยกลุ่มที่ประท้วงรัฐบาลก็ร้องเรียนว่าคำสั่งห้ามชุมนุมของรัฐบาลด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้นเป็นเหตุผลข้ออ้างที่เข้มงวดมากเกินไป
ทางด้านฟิลิปปินส์เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลกรุงมนิลาได้ออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้านอย่างเข้มงวดซึ่งก็เป็นมาตรการเพื่อยุติกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลเช่นกัน โดยองค์การนิรโทษกรรมสากลหรือ Amnesty International รายงานว่าประธานาธิบดีดูแตร์เต้มีคำสั่งให้ทหารหรือผู้นำชุมชนสามารถใช้อาวุธกับ ”ผู้ก่อความวุ่นวาย” ที่ประท้วงมาตรการกักตัวได้ทันที และบรรยากาศของการไม่ต้องรับโทษของเจ้าหน้าที่ก็ยิ่งส่งเสริมให้มีการสังหารนักกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้นในปีที่แล้วด้วย
Maria Ela Atienza นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย University of the Philippines Diliman ได้ชี้ว่าการนำแนวคิดแบบนิยมอำนาจทหารและการเน้นเรื่องความมั่นคงตามแบบจารีตประเพณีมาใช้จัดการกับการระบาดของโควิด-19 แทนที่จะอาศัยข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน ฟิลิปปินส์ย่ำแย่ลง
ส่วนนาย Renato Reyes เลขาธิการใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรแนวก้าวหน้า Bayong Alyansang Makabayan ก็ชี้ว่าตำรวจฟิลิปปินส์ที่บังคับใช้คำสั่งให้อยู่กับบ้านได้ใช้อำนาจเกินเลยขอบเขต และการใช้มาตรการทางกฏหมายร่วมกับคำสั่งล็อคดาวน์และการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเร่งกวาดล้างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลล้วนแต่ทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์ยิ่งเลวร้ายลงด้วย