Your browser doesn’t support HTML5
หนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลต่างๆ ในยุโรปและเอเชีย ส่งข้อความที่หลายคนได้รับแล้วไม่แน่ใจว่า นโยบายการจัดการวัคซีนของแต่ละประเทศคืออะไรกันแน่ แต่บริษัทยาต่างๆ ได้เรียนรู้จากกรณีการสั่งห้ามการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย และยาที่ใช้ในการทดลองรักษา และคาดไว้แล้วว่า จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัคซีนใหม่นี้เช่นกัน
ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตยาหลายแห่งทั่วโลกที่กำลังเร่งพัฒนาและทดสอบวัคซีนต้านโควิด-19 เริ่มวางแผนการผลิตมากกว่าใน 1 ประเทศแล้ว เนื่องจากความน่าจะเป็นว่า รัฐบาลบางประเทศจะออกกฎควบคุมหรือระงับการส่งออก เพื่อให้คนในประเทศของตนเองได้ใช้วัคซีนก่อน รวมทั้งเพื่อความได้เปรียบต่างๆ ทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ตามรายงานของสำนักข่าว เอ็นพีอาร์
รูปการณ์นี้ คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่าเป็น Vaccine Nationalism หรือ “ลัทธิวัคซีนชาตินิยม” เพราะวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศที่ผลิตได้ก่อนเป็นผู้มีชัยในหลายๆ ด้าน เช่น สามารถทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนได้ก่อนใครอื่นเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งยังมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะส่งเสบียงวัคซีนให้ประเทศพันธมิตรใดต่อ และกลายมาเป็นผู้นำในด้านการช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย
จอห์น ชิมินสกี ซีอีโอ ของ บริษัทยา Catalent Inc ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในแวดวงการผลิตวัคซีน เชื่อว่า ทุกคนต้องการจะปกป้องคนของตัวเองทั้งนั้น ดังนั้น บริษัทของเขาจึงเปิดโรงงานไว้ในรัฐอินเดียน่า และรัฐวิสคอนซิน และที่อิตาลีไว้รองรับสถานการณ์
แนนซี่ คาสส์ ศาสตราจารย์ด้านชีวจริยธรรมและสาธารณสุข แห่งมหาวิทยาลัย จอห์นส ฮอพกินส์ ให้ความเห็นว่า ความท้าทายในเรื่องของการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 จะชัดเจนในปีแรกที่มีการพัฒนาสำเร็จ โดยเฉพาะในเรื่องของกำลังการผลิต ตามมาด้วยการถกเถียงกันว่า ใครควรจะได้ใช้ก่อนและใครต้องรอเป็นคิวถัดไป
ทั้งนี้ เทดรอส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ผู้ผลิตวัคซีนและประเทศต่างๆ ที่มีการผลิตส่งวัคซีนนี้ไปยังบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกโดยเร็วที่สุด ขณะที่ ผู้ผลิตยาบางราย แสดงความจำนงค์ว่า ถ้าเลือกได้ ก็จะส่งวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลใช้งานก่อนเป็นกลุ่มแรก
รายงานข่าวระบุว่า ในเวลานี้ มีการศึกษาพัฒนาวัคซีนนี้อยู่กว่า 100 สูตรทั่วโลก ซึ่งรวมถึง สหรัฐฯ จีน และยุโรป โดยรัฐบาลต่างๆ ได้จัดสรรงบประมาณก้อนโตเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนานี้แล้ว เช่น รัฐบาลสหรัฐฯ ที่จัดงบกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ให้บริษัท Johnson & Johnson, Moderna Inc., AstraZeneca และ Sanofi ขณะที่ยังไม่มีบริษัทใดประเมินว่า จะพัฒนาวัคซีนนี้สำเร็จเมื่อไหร่ หรือ รัฐบาลอังกฤษ ที่มอบงบกว่า 79 ล้านดอลลาร์ให้ โครงการร่วมระหว่าง AstraZeneca และมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ที่คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนชุดแรกจำนวน 30 ล้านโดสออกมาภายในเดือนกันยายน ส่วน ดร.พอล กริฟฟิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ที่ดูแลโครงการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในออสเตรเลีย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การทดสอบวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท Novavax ของสหรัฐฯ ที่เริ่มทดสอบกับมนุษย์ในเวลานี้ น่าจะประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การผลิตราว 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ และอีก 1,500 ล้านโดสในปีหน้า
เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมาธิการยุโรปเพิ่งจัดการประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ที่มีผู้นำและตัวแทน 43 ประเทศ ซึ่งไม่มีสหรัฐฯ อินเดียและรัสเซีย เข้าร่วมเพื่อถกประเด็นต่างๆ อาทิ กระบวนการผลิตวัคซีนและการนำส่งให้ถึงมือประชาชนหลายพันล้านทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศยากจนทั้งหลาย
ขณะที่ รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ได้เจรจากับบริษัท AstraZeneca ให้เร่งผลิตวัคซีนประมาณ 300 ล้านโดสให้ใช้ในสหรัฐฯ ก่อน บริษัท Sinopharm Group ที่เป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนในจีน กล่าวว่า วัคซีนที่ผลิตออกมาในชุดแรกจะนำไปใช้กับชาวจีนนับพันล้านคนก่อน ซึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ และผู้ที่ทำงานและศึกษาอยู่ต่างประเทศด้วย
ริชาร์ด แฮทเช็ตต์ ซีอีโอ ของ Coalition for Epidemic Preparedness Innovations ซึ่งเป็นกลุ่มทำงานไม่หวังผลกำไรจากนอร์เวย์ ที่ให้เงินสนับสนุนโครงการพัฒนาวัคซีนหลายโครงการ ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ต้องการเร่งผลิตวัคซีนให้กับประชาชนของตน เพราะผู้ผลิตทุกรายมีพันธะรับผิดชอบที่จะต้องส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศที่ตนตั้งอยู่ก่อนอยู่แล้ว