นักวิทย์ ชี้ “กรุ๊ปเลือด” ส่งผลต่อความรุนแรงของโควิด-19

Bill Myers of Washington has blood platelets drawn at the American Red Cross Charles Drew Donation Center in Washington Feb. 16, 2016.

นักวิทยาศาสตร์ พยายามหาคำตอบกันมาตลอดว่าทำไมคนที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส ทำไมบางคนถึงมีอาการไม่รุนแรง ในขณะที่บางคนนั้นปางตาย ก่อนหน้านี้มีปัจจัยบางอย่างที่เราพอทราบกันแล้ว เช่น อายุ โรคประจำตัว แต่งานวิจัยล่าสุดจากยุโรป พบว่า หมู่เลือดของคนเราก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งต่อความรุนแรงของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

นักวิจัยในเยอรมนีและนอร์เวย์ ทำการศึกษาและค้นพบว่า คนที่มีเลือดกรุ๊ปเอ (A+) มีความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 สูงกว่า และมีอาการรุนแรงมากกว่าคนกรุ๊ปเลือดอื่น

ผลการวิจัยที่ได้ครั้งนี้ได้มาจากการทำการศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณเกือบ 2,000 คนในอิตาลี และสเปน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

สิ่งที่พวกเขาค้นพบคือ ในจีโนม (genome) หรือหน่วยพันธุกรรมทั้งหมดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติของมนุษย์ จะมีจุดอยู่สองจุดที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของคนเราที่จะเกิดภาวะระบบทางเดินทางหายใจล้มเหลวหากติดโควิด-19 ซึ่งหนึ่งในจุดสองจุดนั่นคือ พันธุกรรม หรือ ยีนส์ (gene) ที่เป็นตัวบ่งบอกกรุ๊ปเลือดนั่นเอง

คนที่มีเลือดกรุ๊ป เอ จะมีโอกาสสูงกว่าคนเลือดกรุ๊ปอื่นถึง 45% ที่จะเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขามีโอกาสสูงที่จะต้องการออกซิเจน หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในการรักษาโควิด-19

และข้อมูลนี้น่าจะเป็นตัวช่วยให้กับทีมหมอและพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพราะสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 คือ ผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหายใจล้มเหลว มีอาการติดเชื้อในปอด หรือกลุ่มที่มีอาการหายใจไม่ออกเฉียบพลัน

ในสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับในประเทศไทย เลือดกรุ๊ปเอเป็นหมู่โลหิตที่มีมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากเลือดกรุ๊ปโอ ซึ่งจากการศึกษาชิ้นนี้พบกว่าคนเลือดกรุ๊ปโอ กลับมีโอกาสที่จะเกิดภาวะหายใจล้มเหลวจากโควิด-19 น้อยกว่าหมู่เลือดอื่นๆ ถึง 35%

ผลจากรายงานนี้คล้ายกับการศึกษาก่อนหน้านี้ในจีนและสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มีเลือดกรุ๊ปเอ จะมีโอกาสติดโควิด-19 มากกว่ากรุ๊ปโอ

นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคซาร์ส เมื่อ 17 ปีก่อน ก็พบว่าคนเลือดกรุ๊ปบเอ มีโอกาสที่จะติดโรคมากกว่าเช่นกัน