วัฒนธรรมการใส่หน้ากากอนามัยของเอเชียที่ตะวันตกไม่เข้าใจ

Your browser doesn’t support HTML5

Asia Mask Culture

หน้ากากอนามัยกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ท่ามกลางวิกฤติการณ์โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลกในขณะนี้ เนื่องจากวัฒนธรรมและความคุ้ยเคยที่แตกต่างกัน

ความนิยมและคุ้นเคยการใช้หน้ากากอนามัยนั้น ดูชัดเจนที่สุดในญี่ปุ่น ที่ผู้คนเริ่มใช้ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 50 เพื่อใช้ป้องกันตนเองจากมลภาวะทางอากาศในเวลาที่ประเทศกำลังอยู่ในยุคพัฒนาอุตสาหกรรม และปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นใช้ประโยชน์ในหลายๆ กรณี ทั้งเพื่อความสุภาพทางสังคมในช่วงที่รู้สึกไม่ค่อยสบาย หรือเพื่อปิดบังใบหน้าคุณสภาพสตรีในวันที่ไม่แต่งหน้า รวมทั้งประโยชน์ทางด้านแฟชั่นโดยไม่มีคุณสมบัติการปกป้องใดๆ เลย

แบรดลีย์ ซัททัน ชาวอเมริกันที่ทำงานอยู่ในญี่ปุ่น บอกกับผู้สื่อข่าวว่า หน้ากากอนามัยเป็นของใช้สำคัญในปัจจุบัน หลังผู้คนนำมาใช้งานในหลากหลายจุดประสงค์มากกว่าที่คนในสหรัฐฯ เข้าใจ

ทั้งนี้ ภาพการใช้งานหน้ากากอนามัยในเอเชียเริ่มเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคซาร์ส หรือ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรงที่เริ่มระบาดในจีนเมื่อปี ค.ศ. 2002 ก่อนจะแพร่กระจายไปยังสิงคโปร์และไต้หวัน ในปี ค.ศ. 2003

เฉิน ยื่อฉุน ผู้อำนวยการ ศูนย์ควบคุมการติดต่อประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไต้หวันแห่งชาติ ณ กรุงไทเป กล่าวว่า โรคซาร์สเป็น “จุดเปลี่ยน” ในเอเชีย ที่ทำให้คนเลิกมองว่า หน้ากากอนามัยเป็นสัญลักษณ์ของอาการป่วยหนัก

บทความที่ตีพิมพ์เว็บไซท์ China Under the Radar ที่เน้นเสนอข่าวและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับวัฒนธรรม ระบุว่า ที่ประเทศจีนนั้น หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่วัยรุ่นยุคใหม่นำมาใช้เสมือน “ไฟร์วอลล์ทางสังคม” เพื่อกันไม่ให้คนเข้าหาในที่สาธารณะ ขณะที่ในฮ่องกง หน้ากากอนามัยสีดำเป็นองค์ประกอบสำคัญในการชุมนุมประท้วงรัฐบาล เพื่อปิดบังใบหน้าไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแม้แต่นายจ้างจับได้

บทความดังกล่าวยังกล่าวด้วยว่า คนสูงอายุในไต้หวันมักนิยมใส่หน้ากากอนามัย พร้อมแว่นตากันแดด และหมวกกันแดด เพื่อป้องกันใบหน้าถูกแดดเผา ขณะที่บางคนหวังใช้อุปกรณ์ทั้งหมดป้องกันตนเองจากมลภาวะทางอากาศ ส่วนผู้คนในเมืองใหญ่ๆ ของจีนก็ใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ เพราะปัญหามลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม

การที่ผู้คนในเอเชียคุ้นเคยกับหน้ากากอนามัยอยู่แล้ว และมองว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินอยู่นี้ ทำให้ความต้องการพุ่งสูงและเกิดการแห่ซื้อด้วยความตื่นตระหนก จนรัฐบาลบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อจัดสรรปันส่วนการซื้อขายแล้ว

ในสิงคโปร์และไต้หวันนั้น รัฐบาลแนะนำให้ผู้มีอาการป่วยสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนใคร ส่วนองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ผู้ที่มีสุขภาพดีไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัย ยกเว้นสำหรับคนที่ต้องเฝ้าไข้ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ควรใส่

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไต้หวัน เปิดช่องเอาไว้ว่า ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอาจใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางฝูงชน เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อ ทำให้ภาพคนใส่หน้ากากอนามัยในกรุงไทเป เป็นภาพปกติในเวลานี้ที่จะเห็นอย่างน้อย 9 ใน 10 คนเดินบนถนนพร้อมใส่หน้ากากไว้

ความแตกต่างสังคมและวัฒนธรรมเช่นนี้ หากมีการขยายความอธิบายให้ผู้ที่ไม่เข้าใจได้ทราบ ก็น่าจะเป็นจุดที่ช่วยให้ความเครียดและความตื่นตระหนกต่อการระบาดทั่วโลกลดลงได้ เมื่อต่างคนต่างเข้าใจและเคารพในหนทางปฏิบัติของกันและกัน