ผู้นำทางการเมืองสหรัฐฯ กล้าท้าทายแนวทางปฏิบัติช่วงวิกฤติโควิด-19

Your browser doesn’t support HTML5

US Leaders Defy

ในช่วงที่รัฐบาลต่างๆ ประกาศปิดเมืองหรือประเทศ รวมทั้งสั่งห้ามการเดินทางเข้า-ออก และภายในประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 แต่ผู้นำทางการเมืองสหรัฐฯ บางรายกลับเลือกที่จะฝ่าฝืนแนวทางปฏิบัติหรือมาตรการดังกล่าว โดยไม่กลัวความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำแนะนำให้พลเมืองอเมริกันไม่เดินทางออกนอกประเทศ และอยู่แต่ในเคหะสถาน ตามคำแนะนำทั้งเรื่องการรักษาระยะห่างในสังคม และกฎ Shelter-in-Place เพื่อป้องกันโอกาสที่จะติดเชื้อโควิด-19

แต่ไม่เมื่อนานมานี้ หลายคนได้ทราบจากข่าวว่า รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงซึ่งก็คือ ไมค์ พอมเพโอ เพิ่งเดินทางไปอัฟกานิสถาน ส่วนวุฒิสมาชิก แรนด์ พอล จากพรรครีพับลิกัน ผู้มีพื้นเพเป็นจักษุแพทย์ ยังไปออกกำลังกายที่ยิมของสภาฯ ระหว่างรอผลตรวจการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ขณะเดียวกัน แนวทางปฏิบัติที่แนะว่าควรเลิกทักทายกันด้วยการจับมือ กลับไม่ใช่ทางเลือกของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งยังคงปรากฏกายพร้อมกับผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลในการแถลงข่าวรายวัน โดยยืนแออัดติดกันบนเวทีแถลงข่าวทุกวัน ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ พยายามแนะให้ทุกฝ่ายรักษาระยะห่างตามแนวทาง Social Distancing ก็ตาม

Your browser doesn’t support HTML5

ผู้นำทางการเมืองสหรัฐฯ เมินแนวทางปฏิบัติช่วงวิกฤติโควิด-19

ทั้งหมดนี้ กลายมาเป็นภาพขัดแย้งของสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทั้งหลายเรียกร้องให้ผู้คนปฏิบัติตาม เพียงเพราะผู้มีอำนาจในรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า สิ่งที่ตนทำเป็นสิ่งที่จำเป็น

กรณีนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมนุษย์สรุปว่า เป็นสถานการณ์ประเภท “จงทำตามที่บอก แต่อย่าทำตามพวกเรา” ที่เกิดขึ้นประจำในหมู่ผู้มีอำนาจ ที่มักคิดว่ากฎเกณฑ์เป็นเรื่องของปุถุชนคนปกติ แต่ไม่ใช่กับพวกตน และมีคำอธิบายการกระทำที่แตกต่างของตนตลอดเวลา

มอริส ชไวท์เซอร์ ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยวอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ให้ความเห็นว่า เมื่อคนเรามีอำนาจ เราก็มักจะมองว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่น และไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใดๆ ขณะที่คนเราก็มักจะทำในสิ่งที่ต้องการโดยไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขใดๆ เฉกเช่นคนที่ไม่มีอำนาจ

ในกรณีของ ไมค์ พอมเพโอ นั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อธิบายว่า การเดินทางไปอัฟกานิสถานอย่างเงียบ ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความเร่งด่วน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่นั่น ซี่งอาจส่งผลต่อความพยายามของสหรัฐฯ ในการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง ผ่านการลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มตาลิบาน ที่เกี่ยวข้องกับการถอนทหารอเมริกันออกจากตะวันออกกลาง

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันด้วยว่า ผู้ร่วมเดินทางไปกับคณะของพอมเพโอ ถูกตรวจอาการและอุณหภูมิร่างกาย และได้รับสิ่งของจำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลฆ่าเชื้อ กระดาษทิชชู่เปียกสำหรับฆ่าเชื้อ และเทอร์โมมิเตอร์แบบใช้ครั้งเดียว ขณะที่เจ้าหน้าที่แพทย์ของกระทรวงฯ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้ร่วมเดินทางทั้งหมดไม่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังหลังกลับมาจากอัฟกานิสถาน เพราะอัฟกานิสถานไม่ได้ถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงของการติดเชื้อ และเพราะการเดินทางและประชุมทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ดี หลายคนแสดงความไม่สบายใจเมื่อเห็นพฤติกรรมบางอย่างของเจ้าหน้าที่รัฐบาล เช่น กรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังคงจับมือทักทายผู้คนอยู่ ซึ่ง นายแพทย์ แอนโธนี่ เฟาชี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ย้ำว่า ไม่ควรเกิดขึ้น และทุกคนควรรักษาระยะห่างระหว่างกันแม้แต่ในช่วงแถลงข่าว

สำหรับกรณีของ วุฒิสมาชิก พอล ที่ปฏิเสธที่จะกักตัวเฝ้าระวังอาการระหว่างรอผลทดสอบ ทำให้เกิดความกังวลว่า สมาชิกสภาสูงอีกหลายคน ซึ่งมีอายุมากกว่า 70 ปี หรือกว่า 80 ปีในบางราย อาจตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่จะติดเชื้อได้ ขณะที่การที่วุฒิสมาชิก พอล ยังคงไปออกกำลังกายที่ยิมของวุฒิสภาและสัมผัสจุดต่างๆ ในอาคาร วุฒิสมาชิก เชอร์รอด บราวน์ จากพรรคเดโมแคต เรียกว่าเป็นการที่ “ไม่มีความรับผิดชอบ” และให้ความเห็นว่า สมาชิกสภาสูงบางคนอาจคิดว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกันจากอาการป่วยต่างๆ หรือมีความคงกระพัน

เดบอราห์ เบิร์กซ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหน่วยเฉพาะกิจรับมือโคโรนาไวรัสของทำเนียบขาว ให้ความเห็นว่า ผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ยังคงเป็นผู้แพร่เชื้อได้ ดังนั้น การรักษาระยะห่างในสังคมยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรปฏิบัติตามเสมอ

ศาสตราจารย์ชไวท์เซอร์ แห่ง มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีแต่จะสร้างความสับสนให้กับประชาชน เพราะสารที่รัฐบาลส่งออกมาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แสดงการขาดวินัยและความวุ่นวายนั่นเอง