นักวิเคราะห์แนะสหภาพยุโรปร่วมวางแผนเศรษฐกิจรับผลกระทบโควิด-19

European Commission President Ursula von der Leyen speaks during a joint press conference after a G7 Leaders' videoconference on COVID-19 at the EU headquarters in Brussels on March 16, 2020. - Ursula von der Leyen on March 16 proposed that the EU.

หลังสั่งปิดพรมแดนสำหรับพลเมืองประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกไปแล้ว นักวิเคราะห์แนะว่า สหภาพยุโรปควรเริ่มหันหน้าเข้าหากันเพื่อวางแผนออกมาตรการร่วมในการพยุงเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลต่างๆ ในยุโรปพยายามหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้ประคองเศรษฐกิจของตน อาทิ เงินทุนฉุกเฉินช่วยเหลือ และมาตรการด้านนโยบายการคลังต่างๆ รวมทั้งการพิจารณาแปรรูปธุรกิจเอกชนที่ประสบปัญหาหนัก ให้กลายมาเป็นของรัฐด้วย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป เป็นประเทศแรกที่ภูมิภาคที่ดำเนินแผนงานเต็มที่ที่สุด ด้วยคำยืนยันในระหว่างการแถลงการณ์ต่อประชาชนของประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครอง เมื่อต้นสัปดาห์ว่าจะไม่มีบริษัทใดล้มหายตายจากไปเพราะวิกฤตินี้ พร้อมประกาศเงินช่วยเหลือมูลค่าราว 50,000 ล้านดอลลาร์ และงบกู้ยืมสำหรับธุรกิจขนาดเล็กอีกประมาณ 300 ล้านดอลลาร์

และแม้รัฐบาลจะจำกัดให้ประชาชนในฝรั่งเศสอยู่แต่ในอาคารบ้านเรือน และออกไปจับจ่ายซื้อของจำเป็นได้เท่านั้น รัฐมนตรีเศรษฐกิจ บรูโน เลอ แมร์ เรียกร้องให้ภาคธุรกิจและคนงานทั้งหลายทำหน้าที่ปฏิบัติงานของตนต่อไป

ขณะเดียวกัน เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ให้สัญญามาตรการ “บาซูก้า” ซึ่งมีแผนชูโรงคือ วงเงินประกันเงินกู้ไม่น้อยกว่า 550,000 ล้านดอลลาร์สำหรับบริษัทต่างๆ ส่วนสเปนก็ประกาศวงเงินช่วยเหลือมูลค่า 220,000 ล้านดอลลาร์ออกมาเช่นกัน

ทางอิตาลี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 หนักที่สุดและอยู่ในภาวะปิดประเทศ รัฐบาลประกาศงบประมาณช่วยเหลือมูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ไม่น่าเพียงพอในการนี้

กรรมาธิการยุโรปที่ดูแลตลาดภายในกลุ่มประเทศสมาชิกบอกกับผู้สื่อข่าวว่า การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่น่าจะทำให้สหภาพยุโรปตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ ซึ่งสอดคคล้องกับความเห็นของ เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั้งหลายพยายามให้มากที่สุดที่จะปกป้องประชาชนและเศรษฐกิจในภูมิภาค ที่ย่ำแย่หนักจากวิกฤติสาธารณสุขและมาตรการป้องกันต่างๆ อันรวมถึงการปิดเมืองและปิดประเทศที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้

กุนเธอร์ วูลฟ์ นักวิเคราะห์จาก บรูเกิล (Bruegel) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในประเทศเบลเยี่ยม กล่าวว่า น่าจะถึงเวลาที่ธนาคารกลางยุโรปและกลุ่มรัฐมนตรีการคลังในยูโรโซน พิจารณาออกมาตรการนโยบายการคลังและการเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว