จีนกับข้อกล่าวหาปกปิดที่มาและการระบาดของโควิด-19 และกระแสวิพากษ์จากทั่วโลก

Virus Outbreak China

Your browser doesn’t support HTML5

China Backlash

เมื่อไม่นานมานี้ ออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่มาของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ เยอรมนีและอังกฤษ เริ่มแสดงความลังเลที่จะเชิญบริษัทหัวเว่ย เข้ามาขยายการลงทุนในประเทศและประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวโทษจีนว่าเป็นต้นตอของการระบาดและสมควรได้รับโทษ ส่วนบางประเทศต้องการให้จีนรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการระบาดครั้งนี้

หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ความไม่พอใจในจีน ที่ถูกมองว่ารับมือกับภาวะวิกฤติครั้งนี้ตั้งแต่แรกเริ่มไม่ดีพอ จนทำให้ไวรัสแพร่กระจายไปทั่ว เริ่มรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ และทำให้ความพยายามที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ เริ่มซวนเซ

แม้ว่าจีนเองจะไม่เคยใส่ใจกับความเห็นนอกประเทศเท่าใด แต่คราวนี้ เริ่มมีการตอบโต้ด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การส่งมอบควาช่วยเหลือทางการแพทย์ไปยังประเทศที่วิจารณ์ตนเองรุนแรง และส่งผ่านข้อความที่เหมือนเรียกร้องคำขอบคุณพร้อมๆ กับขู่ให้ระวังมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อแก้แค้นด้วย

ก่อนหน้าการระบาด รัฐบาลกรุงปักกิ่งดำเนินแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุกแฝงไปกับแผนงานทางการทูตแบบ “กองพันหมาป่า” หรือ Wolf Warrior ตามชื่อภาพยนตร์จีนแนวส่งเสริมความรักชาติ ที่เกี่ยวกับแผนการชั่วร้ายของทีมทหารรับจ้างที่สหรัฐฯ จ้างมาและสุดท้ายถูกปราบจนสิ้นซาก

ฟรังซัวส์ โกเดมองท์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเอเชียจากสถาบัน Institute Montaigne ในฝรั่งเศส ให้ความเห็นว่า นักการทูตรุ่นใหม่ๆ ของจีน ที่กระจายอยู่ทั่วโลก แสดงจุดยืนความเป็นคนหัวรุนแรงและเริ่มส่งสารดูถูกรัฐบาลของประเทศที่แต่ละคนประจำอยู่กันแล้ว รวมถึงบรรดาประเทศในตอนเหนือของยุโรป ที่จีนควรจะผูกมิตรมากกว่า

มีรายงานข่าวว่า ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศส คาซัคสถาน ไนจีเรีย เคนยา ยูกันดา กานา และสหภาพแอฟริกา เรียกตัวทูตจีนประจำประเทศของตนเข้ามาตอบคำถามต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการกระจายข้อมูลผิดๆ ไปจนถึงการกระทำการเหยียดผิวชาวแอฟริกันในมณฑลกวางโจว

ตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลจีน ยังมี อาทิ กรณีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่จีนขู่เนเธอร์แลนด์ ว่าจะไม่ส่งความช่วยเหลือทางการแพทย์ให้ หลังรัฐบาลฮอลแลนด์ สั่งเปลี่ยนชื่อสำนักงานตัวแทนในไต้หวัน ให้มีคำว่า “ไทเป” รวมอยู่ด้วย และก่อนหน้านั้น สถานทูตจีนในกรุงเบอร์ลินออกมาทะเลาะกับหนังสือพิมพ์ Bild ของเยอรมนี ที่เรียกร้องให้จีนจ่ายค่าเสียหายจากกรณีโควิด-19 มูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ให้กับรัฐบาลเยอรมนี

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เช่นกัน ปธน.ทรัมป์ กดดันให้หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ทำการสืบสวนต้นตอของไวรัส โดยเฉพาะที่ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ในเมืองอู่ฮั่น พร้อมแสดงความสนใจที่จะฟ้องร้องรัฐบาลกรุงปักกิ่งให้จ่ายค่าชดเชยมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ต่อผู้เสียชีวิตชาวอเมริกัน 1 รายด้วย ขณะที่ เอริค ชมิดท์ อัยการจากรัฐมิสซูรี ได้ยื่นเรื่องฟ้องศาลว่าจีนต้องรับผิดชอบต่อการระบาดนี้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกคดีนี้ว่า เหลวไหล และไม่มีมูลใดๆ รวมทั้ง เป็นเรื่องน่าขัน

ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่า แม้จีนตั้งใจใช้นักการทูตรุ่นใหม่ออกมารบกับประเทศอื่นๆ แต่ในระยะยาว ความพยายามทั้งหมดอาจวกกลับมาทำลายตัวเอง และทำให้แผนการผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลกอย่างสง่างามล้มเหลวได้

ซูซาน เชิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ให้ความเห็นว่า ขณะที่จีนเริ่มควบคุมสถานการณ์การระบาดได้และเริ่มแผนการทูตด้านสาธารณสุข จีนควรใช้โอกาสนั้นเน้นย้ำให้โลกเห็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจของตน และสร้างความมั่นใจ รวมทั้งส่งเสริมชื่อเสียงของตนในเวทีโลก แต่กลับปล่อยให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้เป็นโอกาสหาทางเรียกคะแนนนิยมจากชาวโลกมากกว่า

การตอบโต้ของนักการทูตจีนในกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องโควิด-19 มีออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีของออสเตรเลียที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนจีน ที่ทำให้ทูตจีนประจำออสเตรเลียให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า อาจถึงเวลาที่จีนควรถามตัวเองว่า ทำไมต้องดื่มไวน์ออสเตรเลีย หรือรับประทานเนื้อวัวออสเตรเลีย สักที และคำพูดเหล่านี้ ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย มารีส เพยต์ เรียกสถานการณ์นี้ว่าเป็น “การขู่กรรโชกทางเศรษฐกิจ”

ส่วนฝรั่งเศส ซึ่งปกติรัฐบาลมีสัมพันธ์อันดีกับกรุงปักกิ่ง เพิ่งแสดงความไม่พอใจที่มีนักการทูตจีนออกแถลงการณ์วิจารณ์ฝรั่งเศสออกมา ที่รวมถึงการที่กล่าวว่า คนฝรั่งเศสมักส่งผู้สูงอายุไปตายในบ้านพักคนชรา ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีเพิ่งร้องเรียนว่า นักการทูตจีนพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐและบริษัทใหญ่ๆ ของเยอรมนีออกจดหมายแสดงความขอบคุณต่อความช่วยเหลือในการรับมือการระบาด ซึ่งคล้ายๆ กับกรณีของโปแลนด์ ที่มีข่าวว่า จีนพยายามกดดันให้ประธานาธิบดี อันเดรจ ดูดา โทรศัพท์หาประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพื่อขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนในจีนที่รู้สึกดีกับแผนการของรัฐบาลกรุงปักกิ่งทั้งหมด และ จื้อ จงหยุน ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกา จากสถาบัน Chinese Academy of Social Sciences คือหนึ่งในผู้ที่เห็นต่าง และมองว่า ความพยายามในแนวต่อต้านแนวคิดตะวันตกและปลุกเร้าความรักชาติดังเช่นที่เคยมีในช่วงปี 1899-1901 นี้ ไม่น่าจะช่วยให้จีนก้าวขึ้นมายืนในแถวหน้า ทัดเทียมกับอารยะประเทศทั้งหลายของโลกได้เลย