วิกฤติโควิด-19 เน้นย้ำความเสี่ยงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในอาเซียน

lao-land-and-deforestation

Your browser doesn’t support HTML5

SE Asia Deforestation Public

โครงการพัฒนาเมืองต่างๆ คือภาพคุ้นตาในยุคนี้ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และนักสิ่งแวดล้อมออกมาเตือนเป็นเวลานานแล้วว่า โครงการเช่นนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าย่ำแย่ลง และการระบาดของโควิด-19 ทำให้เชื่อว่า ประเด็นนี้น่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสาธารณสุขของมนุษย์ด้วย

นักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การที่มนุษย์เดินหน้าตัดไม้ทำลายป่า เป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าต้องไร้ที่อยู่อาศัย และสัตว์ป่านี้เองที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เป็นต้นตอของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่เริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน หลังมีคนได้รับเชื้อจากสัตว์ป่า เช่น ตัวนิ่ม และ ค้างคาว

ซาราห์ เอลาโก สมาชิกรัฐสภาฟิลิปปินส์ กล่าวไว้ว่า มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การตัดไม้ทำลายป่าโดยมนุษย์และโครงการพัฒนาเมืองนั้น ส่งผลให้ความเสี่ยงที่มนุษย์จะได้รับเชื้อโรคติดต่อต่างๆ เช่น โคโรนาไวรัส เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์เพิ่งผ่านกฎหมายใหม่ที่มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นในการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า หลังเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19

เอลาโก ระบุด้วยว่า ภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าจากการตัดต้นไม้สูงเป็นระดับต้นๆ และมีข้อมูลที่ชี้ว่า นับตั้งแต่ช่วงปี 1990 อาเซียนเสียพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 32 ล้านเฮคเตอร์ หรือประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตรแล้ว

ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในอาเซียนนั้นรุนแรงขึ้นมาก เพราะการพัฒนาพื้นที่เมืองเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้มนุษย์ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นคู่ขนานกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก กำลังดำเนินแผนย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตา ไปที่เกาะบอร์เนียว ซึ่งหมายความว่า ต้องมีการถางป่าเพื่อเตรียมพื้นที่อย่างมาก ส่วนที่กัมพูชา NASA Earth Observatory รายงานว่า ประเทศนี้สูญเสียพื้นที่ป่าในสัดส่วนต่อตารางกิโลเมตรที่สูงกว่าทุกประเทศในโลกนี้ไปแล้ว หรือแม้แต่ สิงคโปร์ที่เป็นประเทศล้ำสมัยอย่างทุกวันนี้ได้หลังแปลงสภาพพื้นที่ป่าพรุให้เป็นที่ๆ คนสามารถอาศัยอยู่ได้

นอกจากการรุกพื้นที่ป่าแล้ว มนุษย์ยังหาทางเข้าถึงสัตว์ป่าด้วยวิธีอื่น ที่มีข้อพิสูจน์เป็นภาพสัตว์ป่าทั้งที่มีชีวิตและที่เป็นซาก ขายอยู่ตามตลาดสดต่างๆ ในประเทศจีน เช่น ที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดของโควิด-19 และเป็นสิ่งที่คุ้นตาอยู่ทั่วอาเซียน ที่เป็นที่รู้จักว่า เป็นเส้นทางผ่านของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า

วิกฤติโควิด-19 ไม่ได้ปลุกความตระหนักถึงผลกระทบของการตัดไม้ทำลายป่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

การขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียส่งผลให้ปัญหามลภาวะทางอากาศรุนแรงขึ้น และประเด็นนี้ทำให้โควิด-19 มีผลกระทบร้ายแรงสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพดีด้วย

อย่างไรก็ดี วิกฤติที่คนทั่วโลกเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ นำมาซึ่งสัญญาณของข่าวดี ซึ่งก็คือ เมื่อมนุษย์ต้องใช้เวลาอยู่แต่ในบ้าน สัตว์ป่าก็เริ่มปรากฏกายมากขึ้น เช่น กรณีที่ฝูงเต่าขึ้นฝั่งบนหาดในประเทศไทยเพื่อวางไข่ เป็นต้น รวมทั้ง ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่โรงงานและรถยนต์ปล่อยออกมาลดลงด้วย

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ควรเป็นสิ่งที่เตือนให้รัฐบาลในอาเซียนเพิ่มความใส่ใจเกี่ยวกับการปราบปราบและควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม เหมือนที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ดำเนินการไปแล้ว หรือรัฐบาลเวียดนามที่เริ่มร่างแก้ไขกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพราะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนั้น ไม่ว่าจะมากเพียงใด ก็ไม่มากพอสำหรับความเสียหายและการสูญเสียสิ่งแวดล้อมเลย