นักวิจัยพบแบคทีเรียสองชนิดเชื่อมโยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

Colon Cancer

การชี้ชนิดของแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งอาจนำไปสู่การระบุตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในระยะเริ่มแรก

Your browser doesn’t support HTML5

แบคทีเรียสองชนิดที่เชื่อมโยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในลำไส้ของมนุษย์มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ นับพันล้านตัวอาศัยอยู่โดยไม่ทำอัตรายแก่ร่างกาย และบางชนิดดีต่อสุขภาพของเราด้วย แต่นักวิจัยพบในการศึกษาไม่นานนี้ว่ามีแบคทีเรียอยู่สองชนิดที่เชื่อมโยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

นักวิจัยด้านโรคมะเร็ง Michael Burns กล่าวว่าการชี้ชนิดของแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งได้ อาจนำไปสู่การระบุตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในระยะเริ่มแรก

เขากล่าวว่า การค้นพบนี้สามารถทำให้ทราบว่ามีเชื้อต้นเหตุมะเร็งในร่างกายผู้มีความเสี่ยง ก่อนที่ก้อนเนื้อจะก่อตัวขึ้น และนั่นถือว่าเป็นวิธีที่วิเศษในการระบุความเสี่ยงขั้นเริ่มแรก

อาจารย์ Burns และคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยมิเนโซต้าพบพันธุกรรมของเชื้อที่มีชื่อว่า Fusobacterium และ Providencia ที่พบมากในตัวอย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่ 44 ตัวอย่าง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อลำไส้ที่ปกติ

เชื้อ Fusobacterium เคยถูกระบุแล้วก่อนหน้านี้ว่าเชื่อมโยงกับเชื้อมะเร็ง แต่การศึกษาใหม่ชิ้นนี้สามารถชี้เป็นครั้งแรกว่า Providencia เป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงด้วย

Michael Burns กล่าวว่าการศึกษาก่อนหน้านี้เคยสามารถระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อในลำไส้ของคนไข้ที่เป็นมะเร็ง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดมะเร็งได้อย่างไร

ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ใหญ่ มีส่วนเชื่อมโยงกับกับความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ และขณะนี้มีการใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ H. Pylori ที่อยู่ในกระเพาะอาหารที่แพทย์เชื่อว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งในอวัยวะดังกล่าว ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดชนิดหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า อาจมีการพัฒนายาปฏิชีวนะที่สามารถฆ่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

การศึกษาของมหาวิทยาลัยมิเนโซต้าชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Genome Medicine

รายงานโดย Jessica Berman และเรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท