ความสำเร็จในรั้วมหาวิทยาลัย คือการเตรียมตัวเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน

In this November 14, 2019, photo, students walk on the campus of Utah Valley University, in Orem, Utah.

Your browser doesn’t support HTML5

Business News

ความสนุกสนานและความตื่นเต้นของประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยจะต้องจบลงสักวันหนึ่ง เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต และเมื่อถึงวันนั้น นักศึกษาเหล่านั้นจะต้องนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากรั้วมหาวิทยาลัยไปใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง

การที่จะจบการศึกษาจนได้รับปริญญานั้นต้องใช้เวลาหลายปี แต่ Margo Jenkins ผู้อำนวยการศูนย์วิชาชีพมหาวิทยาลัย Clarkson ในเมือง Potsdam, New York กล่าวว่านักศึกษาไม่ควรจะรอจนใกล้จะเรียนจบ เพื่อที่จะคิดถึงอนาคตของตน และเธอยังสนับสนุนให้นักศึกษาพยายามไขว่คว้าหาประสบการณ์วิชาชีพไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ อีกด้วย

Jenkins กล่าวต่อไปว่าสำหรับนักเรียนส่วนใหญ่แล้ว การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยคือการตัดสินใจครั้งสำคัญเกี่ยวกับทิศทางชีวิตของตนเป็นครั้งแรก แม้ว่าพวกเขามักจะเลือกเรียนสาขาการศึกษาที่ตนสนใจ แต่หลายๆ คนยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการทำงานแบบไหนในอนาคต

มหาวิทยาลัยแทบจะทุกแห่งในสหรัฐฯ มักจะมีศูนย์วิชาชีพสำหรับนักศึกษาของตน และทางมหาวิทยาลัยจะแนะนำนักศึกษาให้เข้ารับคำแนะนำจากศูนย์วิชาชีพทันทีที่เข้าเรียนปีแรก แม้ว่านักศึกษาเหล่านั้นอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่าต้องการทำงานแบบไหน แต่ก็มีขั้นตอนมากมายที่จะสามารถช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจได้

ในการสมัครงาน นายจ้างส่วนใหญ่มักคาดหวังให้ผู้สมัครแสดงประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการที่สมัคร และแนบจดหมายที่เขียนอธิบายเจตน์จำนงอย่างสั้นๆ ว่าทำไมจึงต้องการทำงานนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักไม่ได้มีสอนในห้องเรียน แต่บรรดาศูนย์วิชาชีพตามมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่นักเรียนในเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เช่นเดียวกันสำหรับการฝึกอบรมให้นักเรียนสามารถนำเสนอตัวเองได้อย่างดีในระหว่างการสัมภาษณ์งาน

นอกจากนี้ทางศูนย์วิชาชีพยังมีการจัดส่งนักศึกษาไปฝึกงาน หรือ Internship และ co-ops หรือการที่ให้นักศึกษาหยุดเรียนชั่วคราวเพื่อไปทำงานเต็มเวลาด้วย

ทั้ง Internship และ Co-ops นั้นไม่ได้เหมือนงานปกติทั่วไป แต่มักจะเป็นตำแหน่งชั่วคราวระยะสั้นในบริษัท ซึ่งให้นักเรียนได้ทดสอบความรู้และความสามารถของตนในโลกแห่งความจริง และยังช่วยให้นักเรียนสามารถสร้างเครือข่ายวิชาชีพที่อาจมีประโยชน์ในอนาคต และสามารถตัดสินใจได้ว่างานหรือ บริษัทที่ทำอยู่นั้นเหมาะสมกับตนหรือไม่

ทั้งนี้การฝึกงานหรือ Internship มักจะอยู่ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมักจะเน้นที่โครงการระยะสั้นๆ การฝึกงานบางแห่งนั้นไม่ได้รับค่าตอบแทน ดังนั้นจึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงินที่จะเข้าร่วมในโครงการเหล่านี้ แต่ในทางกลับกัน Co-ops จะเป็นตำแหน่งงานที่จ่ายเงินแบบเต็มเวลา นักเรียนมักจะหยุดเรียนชั่วคราวทั้งภาคเรียนเพื่อให้สามารถทำงานในบริษัทได้อย่างเต็มตัว

Jenkins ผู้อำนวยการศูนย์วิชาชีพมหาวิทยาลัย Clarkson กล่าวอีกว่าปัจจุบันโครงการประเภทนี้มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ก็คาดหวังว่าผู้สมัครงานจะมีประสบการณ์แบบนี้อยู่ในประวัติการทำงานของตน และว่าราว 90% ของนักศึกษามหาวิทยาลัย Clarkson ล้วนแต่ผ่านการฝึกงาน หรือมีประสบการณ์ด้านการศึกษาวิจัยก่อนที่จะจบการศึกษา

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิชาชีพตามมหาวิทยาลัยต่างพยายามกระชับความสัมพันธ์กับบรรดานายจ้างในหลายๆ อุตสาหกรรม ทั้งยังรักษาความสัมพันธ์กับศิษย์เก่าซึ่งอาจจะสามารถให้คำแนะนำกับน้องๆ นักศึกษาในเส้นทางอาชีพที่คล้ายกันได้