Your browser doesn’t support HTML5
ประเด็นขยะพลาสติกที่เข้าไปสู่ระบบนิเวศทางน้ำ ไม่ได้มีเรื่องของปริมาณที่สร้างมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว เพราะนักวิจัยกลุ่มหนึ่งพบว่า ขยะดังกล่าวกลายมาเป็นปัจจัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสัตว์น้ำบางกลุ่มอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อนด้วย
ปัญหามลพิษพลาสติกในมหาสมุทรโลกที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องกำลังส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลตามชายฝั่ง เพราะส่งผลให้สิ่งมีชีวิตมากมายหลายประเภทย้ายถิ่นฐานไปเติบโตในพื้นที่มหาสมุทรแล้ว
ประเด็นดังกล่าวทำให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมของทั้งสหรัฐฯ และแคนาดารู้สึกประหลาดใจที่พบว่า สัตว์ทะเลบางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดีบนขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะที่ ตัวเพรียงและปูที่อาศัยอยู่ในท้องสมุทร กลับมาตั้งรกรากร่วมกับเพรียงและดอกไม้ทะเลที่ใช้ชีวิตอยู่ตามชายฝั่งด้วย
ลินด์ซีย์ ฮาแรม (Linsey Haram) นักวิจัยจากสถาบัน Smithsonian Environmental Research Center ที่เมือง เอ็ดจ์วอเตอร์ รัฐแมรีแลนด์ ซึ่งเป็นหัวหน้าการเขียนรายงานวิจัยครั้งล่าสุดในวารสาร Nature Communications กล่าวว่า ก่อนการเริ่มการศึกษา นักวิจัยคาดว่า จะได้พบสัตว์ทะเลในมหาสมุทรที่สามารถปรับตัวได้บนขยะพลาสติก แต่กลับต้องรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่งที่พบว่า สัตว์ทะเลที่มีชีวิตอยู่ตามชายฝั่งกลับมาอาศัยอยู่บนพลาสติกเหล่านั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ฮาแรม ยอมรับว่า ในเวลานี้ ยังไม่ทราบแน่ว่า สิ่งมีชีวิตตามชายฝั่งทะเลบางชนิดเคลื่อนย้ายตัวออกไปใช้ชีวิตในมหาสมุทรได้อย่างไร
เธอกล่าวกับ วีโอเอ ว่า มีความเป็นไปได้ว่า สิ่งมีชีวิตดังกล่าวอาจใช้ชีวิตอยู่บนขยะพลาสติกอยู่ก่อนแล้ว และอาจถูกพัดพาให้ออกทะเลไปพร้อมๆ กับเศษขยะที่ลอยอยู่
การศึกษาวิจัยนี้มุ่งศึกษาที่บริเวณแพขยะใหญ่แปซิฟิก หรือ Great Pacific Garbage Patch ซึ่งอยู่ระหว่างฮาวายกับรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยแพขยะขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่มากกว่า 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยขยะพลาสติกทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กจำนวนมาก เช่น ขวดน้ำ แปรงสีฟัน และอุปกรณ์ตกปลาที่ถูกทิ้ง ซึ่งถูกดึงเข้าสู่มหาสมุทรด้วยกระแสน้ำวน
รายงานการศึกษาระบุว่า ขยะพลาสติกทั้งหลายนั้นสามารถคงอยู่ในวังน้ำวนนั้นได้นานหลายปีเลยทีเดียว
เอมี่ วี อูห์ริน (Amy V. Uhrin) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของโครงการ Marine Debris Program แห่ง National Oceanic and Atmospheric Administration ในกรุงวอชิงตันอธิบายว่า ขยะเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในใจกลางของน้ำวนซึ่งน้ำค่อนข้างนิ่ง และว่า ขยะส่วนใหญ่ล้วนมาจากมหาสมุทรแปซิฟิกและชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือ
อูห์ริน บอกกับ วีโอเอ ว่า ขนาดของแพขยะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยขึ้นอยู่กับกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทร
รายงานข่าวระบุว่า สถาบัน Ocean Voyages Institute ในเมืองซอซาลิโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมุ่งทำงานเกี่ยวกับการกำจัดขยะในมหาสมุทร เป็นผู้จัดเตรียมตัวอย่างพลาสติกให้งานรวิจัยครั้งนี้
แมรี คราวลี (Mary Crowley) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันนี้กล่าวว่า ทางสถาบันมีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่มีเครนยกขยะได้เป็นจำนวนมากขึ้นจากแพขยะขึ้นไปบนดาดฟ้าของเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาขยะที่เป็นอันตรายอย่างมาก เช่น อวนจับปลาพลาสติกที่มักจะคร่าชีวิตวาฬ โลมา และเต่า
และ ผลการศึกษาจากตัวอย่างขยะพลาสติกเหล่านี้ได้ช่วยให้ข้อมูลบางอย่างแก่นักวิจัย
ลินด์ซีย์ ฮาแรม นักวิจัยจากสถาบัน Smithsonian Environmental Research Center กล่าวว่า สิ่งที่น่าประหลาดใจมากที่สุดก็คือ สัตว์ทะเลชายฝั่งไม่เพียงแต่เติบโตบนขยะพลาสติกเท่านั้น แต่ยังขยายพันธุ์ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามมากมายที่ยังต้องมีการค้นหาคำตอบต่อไปอยู่
เกรก รูอิส (Greg Ruiz) นักนิเวศวิทยาทางทะเลที่ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมของ Smithsonian และเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในรายงานนี้ ตั้งคำถามที่ว่า สัตว์ทะเลชายฝั่งเหล่านั้นสามารถเอาตัวรอดได้อย่างไรบนขยะพลาสติกกลางมหาสมุทร?
รูอิส สงสัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น อาจเป็นกรณีที่สายพันธุ์เหล่านั้นสร้างระบบนิเวศของตัวเองบนขยะพลาสติกที่ช่วยให้จุลินทรีย์และสาหร่ายเติบโตและทำหน้าที่เป็นห่วงโซ่อาหาร ขณะที่ มูลจากปลาและนกในน้ำก็อาจเป็นอาหารให้ได้ด้วยเช่นกัน
ฮาแรม นักวิจัยจากสถาบัน Smithsonian กล่าวเสริมว่า นักวิจัยยังต้องการที่จะทราบด้วยว่า สัตว์ทะเลสายพันธุ์ชายฝั่งและสายพันธุ์ที่อยู่ในน้ำมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร เนื่องจากพวกมันต้องแย่งชิงพื้นที่ที่มีอยู่เพียงจำกัด และพวกมันอาจจะเป็นแหล่งอาหารซึ่งกันและกันด้วย
นอกจากนี้ นักวิจัยยังศึกษาด้วยว่า สัตว์ทะเลชายฝั่งอื่นๆ ใช้ชีวิตอยู่บนขยะพลาสติกในวังน้ำวนหลักทั้ง 5 แห่งทั่วโลกด้วยหรือไม่?
เกรก รูอิส กล่าวทิ้งท้ายว่า นักวิจัยกังวลด้วยว่า สิ่งมีชีวิตตามชายฝั่งจากภูมิภาคต่างๆ อาจก่อตัวเป็นอาณานิคมและแพร่เชื้อโรคไปสู่สัตว์ทะเลอื่นๆ รวมทั้งปลาด้วย