การประชุมภาวะโลกร้อนเริ่มแล้วในกรุงปารีสท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยสุดเข้ม

Global Climate Summit 2015

ประชาชนหลายแสนคนเดินขบวนในหลายประเทศในวันอาทิตย์ เรียกร้องให้ผู้นำโลกเร่งจัดทำข้อตกลงที่จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

Your browser doesn’t support HTML5

การประชุมภาวะโลกร้อนเริ่มแล้วในกรุงปารีส

วันจันทร์นี้จะเป็นวันเริ่มการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดทำข้อตกลงที่จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

การประชุมครั้งนี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หลังจากเพิ่งเกิดการก่อการร้ายในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 130 คน

ในขณะที่กรุงปารีสสั่งห้ามการชุมนุมอย่างเด็ดขาด จึงมีประชาชนจำนวนมากนำรองเท้าไปวางไว้ที่จตุรัส Place de la Republique เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนการเดินขบวน นับจำนวนรองเท้าได้มากกว่า 20,000 คู่ คิดเป็นน้ำหนักกว่า 4 ตัน รวมทั้งรองเท้าของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ บัน คี-มูน และรองเท้าของพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ส่งมาจากนครวาติกันด้วย

นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น ลอนดอน เซาเปาโล นิวยอร์ค เบอร์ลิน และเพิร์ท

Hundreds of pairs of shoes are displayed at the place de la Republique, in Paris, as part of a symbolic and peaceful rally called by the NGO Avaaz "Paris sets off for climate", Nov. 29, 2015.

คาดว่าจะมีผู้นำโลกราว 150 คนเข้าร่วมการประชุมที่กรุงปารีส รวมถึง ปธน.บารัค โอบาม่า ปธน.สี จิ้นผิง ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน และนายกฯนเรนธรา โมดี เป้าหมายหลักของการประชุมครั้งนื้คือการจัดทำข้อตกลงควบคุมระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ด้วยการควบคุมการปล่อยมลพิษที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก

ก่อนหน้านี้ สำนักงานอุตุนิยมของสหประชาชาติเพิ่งมีรายงานเปิดเผยว่า ปี ค.ศ 2015 คือปีที่อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติมา และสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมราว 1 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของระดับที่สหประชาชาติกำหนดไว้

ปธน.บารัค โอบาม่า เขียนใน Facebook ของตนในวันอาทิตย์ ก่อนเดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงปารีสว่า ตนเชื่อว่าการประชุมที่ปารีสครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี และที่ผ่านมารัฐบาลและภาคเอกชนในสหรัฐฯ ได้สร้างความก้าวหน้าไปมากในการลดปริมาณแก๊สที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก

Protesters throw up a globe-shaped balloon during a rally held the day before the start of the 2015 Paris World Climate Change Conference, known as the COP21 summit, in Rome, Italy, November 29 2015.

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลการประชุมเรื่องนี้ในครั้งก่อนๆ รวมทั้งที่กรุงโคเปนเฮเก้นเมื่อปี 2009 จะพบว่ายังมีความแตกต่างอยู่มากระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน และคาดว่าความแตกต่างและอุปสรรคที่ว่านั้นจะยังมีอยู่ในการประชุมที่กรุงปารีสครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงข้อผูกมัดทางกฏหมายของข้อตกลงที่จะเกิดขึ้น การให้เงินช่วยเหลือประเทศที่ยากจน และกระบวนการติดตามตรวจสอบว่าประเทศต่างๆ จะปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการจำกัดปริมาณมลพิษทางอากาศหรือไม่ อย่างไร

ขณะเดียวกัน ปธน.ฝรั่งเศส ฟรังก์ซัวร์ โอล็องก์ ออกมายืนยันถึงความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยในกรุงปารีส โดยได้เพิ่มกำลังตำรวจและทหารทั่วกรุงปารีสเกือบ 10,000 นาย ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ของการประชุมที่จะไปสิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค

(ผู้สื่อข่าว Ken Bredemeier รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)