ผู้ที่มีภาวะแพ้ละอองเกสรและผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้อาจต้องเตรียมรับมือกันอีกครั้ง เมื่อการศึกษาล่าสุดในสหรัฐฯ พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติ จะส่งผลให้ปัจจัยก่อภูมิแพ้อย่างละอองเกสรมากขึ้น อีกทั้งยังยิ่งทำให้ฤดูกาลภูมิแพ้ยาวนานขึ้นอีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ยืนยันว่า ฤดูกาลของโรคภูมิแพ้กำลังแย่ลงและกินเวลายาวนานขึ้น เหมือนที่หลายคนตั้งข้อสังเกตในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติ ยังทำให้ต้นไม้และพืชต่างๆ เริ่มต้นผลิตละอองเกสรได้เร็วขึ้นและมากขึ้น อีกทั้งยังมีทีท่าว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ อีกด้วย
คณะนักวิจัยจากมิชิแกนกล่าวว่า ฤดูกาลภูมิแพ้ในสหรัฐฯ จะเริ่มต้นประมาณกลางเดือนมีนาคม แต่ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศซึ่งมีอากาศอบอุ่น จะเริ่มต้นฤดูกาลภูมิแพ้ก่อนหน้านั้นประมาณหนึ่งเดือน
หากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศผิดธรรมชาติยังคงดำเนินต่อไปตามระดับในปัจจุบัน ฤดูกาลภูมิแพ้อาจจะเริ่มต้นขึ้นประมาณวันที่ 1 มกราคมภายในปี ค.ศ. 2100 แต่ในทางกลับกัน หากทั่วโลกสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ อาการภูมิแพ้ต่างๆ ก็อาจจะเริ่มขึ้นตอนใกล้สิ้นเดือนมกราคม
ทั้งนี้ ราว 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้คนทั่วโลกมีอาการแพ้ละอองเกสร ในขณะที่มีสัดส่วนของเด็กในอเมริกา มีอาการแพ้ละอองเกสร อยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์
หยิงเฉี่ยว จาง (Yingxiao Zhang) หัวหน้าการศึกษานี้ ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications กล่าวว่า การจามและอาการน้ำมูกไหลที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ ส่งผลให้ผู้คนต้องหยุดงานและใช้เงินไปกับการรักษาพยาบาลมากขึ้น ซึ่งการขาดงานดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีชาวอเมริกันอีกประมาณ 25 ล้านคนที่เป็นโรคหอบหืด ซึ่งอาจทำให้มีอาการหายใจลำบาก และฤดูกาลภูมิแพ้จะส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ อาเมียร์ แซพโคตา (Amir Sapkota) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาของมิชิแกนกล่าวว่า ฤดูการภูมิแพ้ที่ยาวนานขึ้นในอนาคตอาจทำให้เกิดปัญหามากมายตามมาได้
แอลิสัน สเตนเนอร์ (Allison Steiner) ซึ่งกำลังศึกษาในเรื่องนี้กล่าวว่า ประชากรที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ จะประสบปัญหาในเรื่องนี้มากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นนอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ จะเห็นละอองเกสรของต้นออลเดอร์ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก ส่วนผู้คนในรัฐเท็กซัสที่มีความอ่อนไหวต่อละอองเกสรของต้นไซเปรสก็จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นเดียวกัน
จางกล่าวด้วยว่า คนอื่นๆ ที่มีอาการตอบสนองต่อละอองเกสรจากหญ้าบางชนิดจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
บิล แอนเดอเร็ก (Bill Anderegg) นักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้กล่าวว่า การศึกษาครั้งใหม่ระบุว่า ละอองเกสรที่เพิ่มขึ้นครั้งต่อไปจะมีจำนวนมากขึ้นเป็นสองเท่าจากที่เคยเพิ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1990 และว่าการศึกษาครั้งนี้ของมิชิแกนครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะปริมาณละอองเกสรที่เพิ่มมากขึ้นนั้น จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา
- ที่มา: เอพี