‘เจน-Z’ จีนปล่อยจอย เมินชีวิตองค์กรใหญ่ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไร้ความหวัง

ชู ยี วัย 23 ปี ฝึกเป็นช่างสักเป็นเวลา 6 เดือน ระหว่างที่ใช้ชีวิตผ่อนคลาย หลังจากลาออกจากการทำงานในบริษัทใหญ่ในจีน ในนครเซี่ยงไฮ้ 5 ก.พ. 2024 (รอยเตอร์)

คนรุ่น Gen Z คือ คนที่เกิดช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 จนถึงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 2010 ในประเทศจีน หันหลังให้กับชีวิตในออฟฟิศองค์กรใหญ่เหมือนคนรุ่นเก่า ๆ และปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปในรูปแบบที่แตกต่างในสาขาอาชีพนอกกระแส ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ยังไม่สดใสนัก

ชู ยี วัย 23 ปี ในอดีตเธอเคยอยากที่จะประสบความสำเร็จในบริษัทแฟชั่นชั้นนำ แต่หลังจากที่ได้เข้าไปสัมผัสการทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้วยตนเองราวสองปี ความกดดันจากงานที่ทำและความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน ทำให้เธอตัดสินใจลาออก และหันมาฝึกเป็น “ช่างสักลาย”

ปัจจุบันนี้ ชูทำงานแบบทางไกลให้กับบริษัทท่องเที่ยว เพียงสัปดาห์ละหนึ่งวัน เวลาที่เหลือเธอเลือกที่จะพัฒนาทักษะการสักลาย โดยตั้งเป้าว่าภายหลังการฝึกงานในช่วงหกเดือนนี้ เธอจะได้ทำงานเป็นช่างสักแบบเต็มเวลา

ช่วงอายุของชู ถูกจัดว่าเธออยู่ในกลุ่มคน หรือกลุ่มบุคคลที่เกิดระหว่างปี 1995 ถึงปี 2010 เฉพาะในประเทศจีน มีคน Gen Z ราว 280 ล้านคน ตามการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบเชิงทัศนะคติกับคนในช่วงอายุอื่น ๆ กลุ่มคน Gen Z ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ “มองโลกแง่ร้ายมากที่สุด”

ตามข้อมูลขององค์กรสรรหาบุคลากรออนไลน์ ระบุว่าในปี 2023 เงินเดือนคาดหวังโดยเฉลี่ยสำหรับพนักงานใหม่ ปรับลดลงใน 38 เมืองสำคัญ และถือว่าเป็นการปรับลดครั้งที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ปี 2016

คนหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงชู รู้สึกไม่พอใจกับโอกาสในการทำงานของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาหันมาใช้ชีวิตแบบ lying flat หรือการใช้ชีวิตอันที่เรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน โดยจะใช้ชีวิตทำงานเท่าที่จำเป็น และเอาเวลาว่างไปทำในกิจกรรมที่ตนเองสนใจ

จีนพยายามผลักดันตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ในเดือนมิถุนายน ปี 2023 พบว่าอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในประเทศจีน เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ราว 21.3% นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันการศึกษาในจีน ชี้ว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับวิทยาลัย ยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ เพื่อให้มีรายได้ประทังชีพ

ชูให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ตอนนี้เธอมีความสุขมากขึ้น และเชื่อว่าการเดินออกมาจากบริษัทเพื่อที่จะไม่ต้องเผชิญกับ “แรงกดดันที่ไร้จุดจบ” เป็นสิ่งที่คุ้มค่าอย่างมาก

ในปีที่แล้ว ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง แนะนำต่อผู้จบการศึกษาระดับวิทยาลัย ให้ “กลืนความขมขื่น” หรือในสำนวนจีนหมายถึงให้เยาวชนอดทนต่อความยากลำบาก หนึ่งในความท้าทายสำหรับการกำหนดนโยบายของผู้นำจีน คือการทำให้กลุ่มคน Gen Z รู้สึกสงบลง ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ

โจว หยุน ผู้ช่วยอาจารย์ด้านสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะมองข้ามทัศนคติการมองโลกในแง่ร้ายของคนรุ่นถัดไป ขณะที่เศรษฐกิจของจีนกำลังชะลอตัวและตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่อึดอัด คนหนุ่มสาวชาวจีนเหล่านี้ต้องรับมือกับความท้าทายมากมาย อย่างเช่น ความไม่เท่าเทียมทางสังคม การควบคุมทางการเมืองที่เข้มงวด และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังดูไร้ความหวัง

  • ที่มา: รอยเตอร์