ชาวจีนวัย ‘Millennial’ เปลี่ยนลุครักชาติ! ยอดขายเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณพุ่งขึ้น 50%

A staff member places gold jewellery in a display at a store in Hangzhou, in China's eastern Zhejiang province on July 27, 2020.

Your browser doesn’t support HTML5

Chinese Millennials Gold

ยอดขายเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นที่ปราณีต ดอกไม้สวยๆ อย่าง โบตั๋น หรือสัตว์ที่เป็นสิริมงคลต่างๆ เช่น มังกรและนกยูง กำลังได้รับความนิยมจากชาวจีนวัย Millennial และโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุราว 20 – 30 ปี เป็นอย่างมาก

ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองคำในจีนนั้นพุ่งสูงขึ้นถึง 2 เท่าภายในครึ่งแรกของปี 2021 นี้เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีก่อนหน้านี้ ทำให้ตลาดทองที่ซบเซาในช่วงการระบาดของโควิดเริ่มกลับมามีสีสันอีกครั้ง

นักวิเคราะห์ตลาดอธิบายว่าเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณ (heritage gold) นั้นต้องใช้ฝีมือการผลิตจากช่างอัญมณีที่มีทักษะสูง ราคาของสวยงามประเภทนี้จึงแพงกว่าเครื่องประดับทองคำทั่วไปอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์

ทางด้าน ฉาว ไท ฟุค บริษัทผลิตเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน บอกว่าเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณของบริษัทนั้นทำยอดขายภายในประเทศได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในปีงบประมาณล่าสุด ซึ่งยอดดังกล่าวนั้นสูงกว่าของปีก่อนหน้าถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงถือว่าเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณ มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเครื่องประดับประเภทอื่นๆ

เพราะเหตุใดเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณจึงได้รับความนิยม?

เหตุผลข้อแรกที่ทำให้ความต้องการในตลาดสูงขึ้นนั้น นักวิเคราะห์บอกว่าเกิดจากกระแสรักชาติจีนที่กลุ่ม Millennial ในประเทศจีนซึ่งเป็นประชากรที่เกิดระหว่างช่วงปี 1985-1995 ต้องการแสดงออก โดยโรแลนด์ แวง ผู้อำนวยการของ World Gold Coucil China บอกว่า กลุ่มผู้บริโภควัย Millennial ใส่ทองพวกนี้เพื่อตอบโต้แบรนด์ทางฝั่งตะวันตก ที่มักออกมากล่าวหารัฐบาลจีนถึงการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนและมักแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานและการปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง

เหตุผลข้อต่อไป คือการช้อปออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคโควิด ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ชาวจีนเข้าถึงเครื่องประดับประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่กลุ่มผู้บริโภควัย Millennial อยู่อย่างหนานแน่น อย่าง กรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้

คุณ เกา ซึ่งเป็นนามสมมติของสตรีวัย 29 ปีคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเป็นผู้บริหารในมณฑลเจียงซู บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “การระบาดของโควิดนั้นทำให้มีการทำไลฟ์ขายเครื่องประดับทองคำมากขึ้นบนโลกออนไลน์ ซึ่งฉันก็ยอมรับว่ามันทำให้ฉันควักเงินซื้อของพวกนี้มากขึ้นจริงๆ” โดยปีนี้ เธอใช้เงิน 30,000 หยวน หรือ ราวๆ 150,000บาทไทยเพื่อซื้อสร้อยข้อมือและปิ่นปักผม ที่มีลายเส้นจีนมาใส่ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังบอกด้วยว่าเธอมีแผนจะมอบเครื่องประดับเหล่านี้ให้บุตรสาวของเธอไว้ใช้ต่อไป

ทั้งนี้สภาวะเศรษฐกิจของจีนและการจับจ่ายของคนในประเทศจีนที่คึกคักทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองคำพุ่งสูง ในช่วงเวลาเดียวกับที่ความต้องการทองคำในประเทศอินเดียลดลงอย่างมาก เนื่องจากการระบาดของโควิดในอินเดียชะลอการจัดงานแต่งงานและการให้สินสอดที่ส่วนใหญ่เป็นทองคำ ซึ่งอินเดียนั้นก็เป็นประเทศที่ซื้อทองมากที่สุดเป็นอันดับสองในโลกรองจากจีน

ทิศทางของ Heritage Gold ในระยะยาว

สำหรับการคาดการณ์ถึงความต้องการเครื่องประดับทองคำสไตล์โบราณในระยะยาวนั้น ผู้จัดการของบริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่งในเซิ่นเจิ้นบอกว่าบริษัทของเขาทำยอดขายของเครื่องประดับประเภทนี้ในช่วงตรุษจีนได้ดีมาก มากกว่าเครื่องประดับทองแบบธรรมดาด้วยซ้ำ บริษัทจึงขยายหน่วยการวิจัยและการพัฒนา (R&D) ด้านดีไซน์ของเครื่องประดับทองคำแบบจีนโบราณขึ้น และว่าพูดได้เลยว่าบริษัทผู้ผลิตอื่นๆ ในเซิ่นเจ้นเองก็กำลังทำแบบนี้เช่นกัน

ขณะนี้สมาคมทองแห่งประเทศจีน (The China Gold Association) บอกว่า เครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณนั้นเป็นตัวผลักดันหลักของตลาดทองในจีนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะการระบาดของโควิด ซึ่งทางสมาคมคาดว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดเครื่องประดับประเภทนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ

บริษัทวิจัยตลาดทองของจีน Beijing Zhiyan Kexin Consulting ก็พูดในทำนองเดียวกัน โดยระบุว่า เครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณได้ขยายตัวขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงปี 2017 ถึง 2019 และคาดว่าภายในปี 2024 ตลาดของเครื่องประดับชนิดดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท เลยทีเดียว