Your browser doesn’t support HTML5
ในประเทศจีน กำลังเกิดปัญหา หนุ่มสาวถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว และถูกสวมสิทธิ์เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการแข่งขันกันสูง หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบคือ ชุนซิว เฉิน ลูกสาวชาวนาผู้ยากไร้ ผู้ที่ มีความใฝ่ฝันที่จะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับชีวิตของตนและครอบครัว
หลายปีที่ผ่านมาเธอเรียนอย่างหนักและคิดว่าตัวเองทำได้ดีในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เธอไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในฝัน หรือแม้แต่ดูผลสอบของตัวเธอเองได้
หลังจากที่ทำงานค่าแรงต่ำ ทั้งเป็นคนงานในโรงงาน พนักงานเสิร์ฟและคุณครูสอนเด็กอนุบาล เป็นเวลานาน 16 ปี ในที่สุดปีนี้เธอก็เพิ่งได้เห็นผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้เธอถึงกับตกตะลึง
เฉินพบว่า นักเรียนอีกคนหนึ่งที่มีคะแนนต่ำกว่าเธอมาก ได้ขโมยข้อมูลของเธอและสวมรอยใช้ชื่อของเธอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมณฑลชานตง จากนั้นก็ได้เข้าทำงานกับรัฐบาลท้องถิ่น และยังคงใช้ชื่อของเธออยู่จนถึงปัจจุบัน
กรณีดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในประเทศจีน สำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้ทางการสอบสวนผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างละเอียด
ตั้งแต่เรื่องราวของสตรีผู้นี้ถูกเปิดเผยสู่สาธารณชน ก็มีผู้คนมากมายเข้ามาโพสต์ประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กันกับเธอเช่นกัน
หู เจีย นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า เรื่องราวน่าสลดใจที่ได้รับการเปิดเผยนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น
รายงานการสอบสวนล่าสุดที่เผยแพร่ในหนังสือพิพม์ Southern Metropolis Daily ของจีน ระบุว่า มหาวิทยาลัย 14 แห่งในมณฑลชานตงเผยว่า มีนักศึกษาถึง 242 คนที่ถูกสงสัยว่าใช้ชื่อของบุคคลอื่นเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา ในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2562
ผู้สังเกตการณ์การเมืองของจีน กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงในสังคมจีนที่ว่า คนจีนชนชั้นล่างมักจะถูกเอาเปรียบจากคนที่ร่ำรวยและมีอำนาจ
รูปแบบดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นโอกาสเดียวที่จะให้ชาวจีนชนชั้นล่างส่วนใหญ่สามารถยกระดับตนเองในสังคมได้ แต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการแข่งขันสูง อย่างที่บางคนเปรียบเทียบว่า เสมือนทหารนับพันพยายามข้ามสะพานไม้ที่มีไม้กระดานวางพาดแผ่นเดียว
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน หู เจีย กล่าวว่า การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในพื้นที่ที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น เช่น ในมณฑลชานตง เหอหนาน และเสฉวน ซึ่งมีประชากรหนาแน่น และผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นสตรี
เขาบอกว่า พ่อแม่ที่มีอำนาจหรือมีเงินมักจะติดสินบนหรือสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยบุตรหลานของตนที่สอบได้คะแนนต่ำ ซึ่งเป็นการผลักนักเรียนคนอื่น ๆ ที่มีคะแนนสูงกว่าให้สอบตกไป และว่าเมื่อการทุจริตดังกล่าวถูกเปิดเผย ครอบครัวของคนเหล่านั้นก็มักจะใช้เงินหรือใช้เส้นสายในการแก้ปัญหา
หู ปิง นักวิจารณ์การเมืองชาวจีนที่อาศัยอยู่ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า การทุจริตในระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบนี้เกิดขึ้นได้เพราะผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษที่ร้ายแรง และว่า ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของจีนควรมีบทลงโทษที่รุนแรงในการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล เพราะนั่นอาจเป็นเพียงโอกาสเดียวที่เด็กๆ จากครอบครัวที่ยากจนนับหมื่นคนจะสามารถเปลี่ยนชะตากรรมของพวกเขาได้
นอกจากนี้การทุจริตลักษณะนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการดูแลระบบการศึกษาของจีนเอง จึงทำให้มีผู้ปลอมแปลงเอกสารได้ง่ายอีกด้วย