ผู้เข้าร่วมโครงการโอแพร์ชาวจีนติดอยู่สหรัฐฯ ท่ามกลางวิกฤติไวรัสระบาด

Au Pair Program

วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการโอแพร์ (Au Pair) จากจีนกลับประเทศลำบากขึ้น พวกเขาต้องรอเที่ยวบินกลับประเทศและต้องหาทางต่อวีซ่าไปเรื่อยๆ เพื่อให้อยู่ในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกกฎหมาย

ทั้งนี้ โครงการโอแพร์เป็นโครงการให้ชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยในบ้านและทำงานเป็นผู้ช่วยเลี้ยงเด็กและทำงานบ้าน โดยบริษัทนายหน้าจะช่วยเตรียมวีซ่าและหาครอบครัวอุปถัมภ์ในสหรัฐฯ ให้ ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับค่าตอบแทนในการทำงานที่ไม่มากนัก โดยได้ราวสัปดาห์ละ 200 ดอลลาร์ (ราว 6,340 บาท) พร้อมที่พักและอาหาร

แต่ภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่ยังดำเนินอยู่นี้ทำให้ผู้ร่วมโครงการไม่น้อยต้องประสบปัญหาในการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศจีน หลัง คัลเจอรัล แคร์ โอแพร์ (Cultural Care Au Pair) เป็นหนึ่งในบริษัทนายหน้า ทำงานอย่างเชื่องช้าในการจัดการเตรียมเที่ยวบินกลับประเทศให้ผู้ร่วมโครงการชาวจีน โดยให้เหตุผลว่าเที่ยวบินกลีบจีนมีน้อยและมักถูกยกเลิกในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องหาทางที่จะอยู่ในสหรัฐฯ ด้วยการต่อวีซ่า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตามมาและแต่ละคนต้องรับผิดชอบกันเอง

โซอี หลี่ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการชาวจีนระบุว่า เธอหาเที่ยวบินกลับจีนได้เองหลายเที่ยวบิน แต่ทางคัลเจอรัล ออ แพร์ กลับแจ้งเธอว่า จะไม่รับผิดชอบค่าตั๋วให้หากเธอจองตั๋วเครื่องบินเอง โดยให้เหตุผลว่าค่าตั๋วราคา 4,000 ดอลลาร์ (ราว 127,600 บาท) นั้นเกินงบของทางบริษัท

ขณะเดียวกันทางบริษัทได้ให้ทางเลือก 2 ทางให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น หลี่ โดยทางเลือกแรกคือ ให้ครอบครัวอุปถัมภ์ออกเงินให้ 1,500 ดอลลาร์ (ราว 47,500 บาท) และทางบริษัทจะช่วยต่อวีซ่าประเภท J-1 ของผู้เข้าร่วมโครงการออกไปอีก 60 วัน หรือไม่เช่นนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถจ่ายเงิน 455 ดอลลาร์ (ราว 14,420 บาท)
เพื่อออกวีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งจะมีอายุจนพวกเขาออกจากสหรัฐฯ ได้

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวนับเป็นเงินจำนวนมากสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการชาวจีน เมื่อเทียบกับรายได้ และเมื่อพวกเขากลับถึงจีนก็จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าโรงแรมสำหรับการกักตัว

ฟัง เทียน ผู้เข้าร่วมโครงการชาวจีนอีกคนหนึ่ง เลือกวิธีที่สอง ทำให้เธออยู่ในสหรัฐฯ ต่อได้อีก 2 เดือนโดยไม่ต้องออกค่าวีซ่าเอง เธอกล่าวว่า ทางบริษัทกำชับว่าหากเธอไม่ต่อวีซ่าจะมีผลอื่นๆ ตามมา เช่น ต้องซื้อประกันชีวิตเอง และจะต้องจัดการชีวิตเองด้วยตัวคนเดียวในสหรัฐฯ ด้วยเงินที่มีน้อยนิด

ทางเลือกที่ทางบริษัทเสนอให้ยังเป็นปัญหาสำหรับครอบครัวอุปถัมภ์ที่ถือเป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน โดย เอริกา แบรนลิง สมาชิกครอบครัวอุปถัมภ์รายหนึ่ง กล่าวว่า ทางบริษัทส่งอีเมลมาแจ้งเธอว่า ครอบครัวของเธอสามารถจ่ายเงินเพิ่ม 1,500 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก เพื่อต่อช่วงการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ได้สองเดือน แต่กลับไม่ได้แจ้งรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม

ทางคัลเจอรัล แคร์ โอแพร์ บอกกับทางวีโอเอว่า ทางบริษัทได้จองเที่ยวบินกลับประเทศให้ผู้เข้าร่วมโครงการชาวจีนที่วีซ่ากำลังจะหมดอายุแล้วทุกคน และกำลังจัดการหาเที่ยวบินสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าโครงการแลกเปลี่ยนนาชาติรวมถึงโครงการโอแพร์อาจสูญเสียรายได้ 233 ล้านดอลลาร์ (ราว 7,380 ล้านบาท) จากการระบาดของไวรัสโควิด-19