Your browser doesn’t support HTML5
ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและหลายประเทศในอาเซียนอยู่ในภาวะตึงเครียดเนื่องจากข้อพิพาทพื้นที่ทางทะเลในทะเลจีนใต้ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ รัฐบาลกรุงปักกิ่งเริ่มชูข้อเสนอที่หลายฝ่ายไม่อาจปฏิเสธได้ เพื่อช่วยรับมือกับการระบาดของโคโรนาไวรัส ที่อาจทำให้คู่กรณีบางรายต้องยอมถอยไปแล้ว
ประเทศจีนเพิ่งประกาศออกมาไม่นานมานี้ว่า โครงการพัฒนาวัควีนต้านโควิด-19 ของตนใกล้ประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ แล้ว และรัฐบาลกรุงปักกิ่งได้เริ่มทำสัญญากับหลายประเทศที่มีประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์กับตนว่าจะเปิดโอกาสให้เข้าถึงวัคซีนนี้ก่อนใครๆ ด้วย
คำสัญญาที่ว่านี้ถูกมองว่า เป็นความพยายามครั้งใหม่ของจีนในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อจุดยืนของตนในเวทีโลก พร้อมๆ กับการลดกระแสต้านจากนานาประเทศในพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่เป็นคู่กรณีประเด็นข้อพิพาทอธิปไตยด้วย
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยันกับฟิลิปปินส์ว่าจะได้สิทธิ์เข้าถึงวัคซีนของจีนก่อนใครๆ ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทยา ซิโนแวค (Sinovac) ของจีน เพิ่งลงนามข้อตกลงกับบริษัทยา PT Bio Farma ที่รัฐบาลอินโดนีเซียเป็นเจ้าของ ว่าจะส่งมอบวัคซีนจำนวน 250 ล้านโดสให้ในแต่ละปี
และเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ หยาง เจียจื้อ หัวหน้าทีมงานด้านต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เดินทางเยือนเมียนมาร์และสัญญาว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งจะให้เมียนมาร์มีสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนจีนได้เป็นรายแรกๆ เช่นกัน
เกรกอรี โพลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน บอกกับ วีโอเอ ว่า ไม่ว่าประเทศใดในอาเซียนจะรู้สึกอย่างไรกับจีนและกับประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ การต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 คือเรื่องที่สำคัญที่สุด และถ้าวัคซีนของจีนคือความหวังที่ชัดเจนที่มีสิทธิ์เข้าถึง ทุกคนก็คงทำทุกอย่างที่ต้องทำเพื่อให้ได้วัคซีนนี้มาอยู่ในมือ
ขณะเดียวกัน ลอว์เรนซ์ กอสติน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสาธารณสุขโลก แห่งมหาวิทยาลัย จอร์จ วอชิงตัน ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ว่า ตนกังวลเกี่ยวกับการที่จีนใช้วิธีเลือกประเทศที่ตนพึงพอใจให้เป็นผู้เข้าถึงวัคซีนเป็นรายแรกๆ เพราะนั่นอาจหมายถึง การที่จีนเอาประโยชน์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางทหารของตนเป็นที่ตั้ง ทั้งๆ ที่ วัคซีนซึ่งสามารถช่วยชีวิตคนได้นี้ไม่ควรถูกนำมาผูกกับเรื่องอิทธิพลหรือผลประโยชน์ทางการเมืองเลย
ทั้งนี้ กรณีท่าทีแข็งกร้าวของจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และร้องเรียนกันมากมายแล้ว และ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า การที่จีนหาประโยชน์จากทรัพยากรในภูมิภาคนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่คณะผู้แทนออสเตรเลียเลือกใช้คำพูดแบบเดียวกันในแถลงการณ์ที่นำเสนอต่อสหประชาชาติด้วย
และกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเองได้เริ่มแสดงทีท่าที่ชัดเจนมากขึ้น หลังอินโดนีเซียเปิดเผยเมื่อช่วงต้นปีว่า กำลังเตรียมจัดทำ “จรรยาบรรณทะเลจีนใต้ สำหรับจีนและอาเซียน” เพื่อจัดการพฤติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อพิพาทนี้ โดยเวียดนาม ซึ่งเป็นประธานกลุ่มในปีนี้ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรณีการปะทะกันกับกองทัพจีนอย่างซึ่งหน้าด้วย
เกรกอรี โพลิง จาก ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ กล่าวว่า จุดยืนของเวียดนามในเรื่องนี้ทำให้รัฐบาลกรุงฮานอย เลือกที่จะไม่สนใจวัคซีนจีนและหันไปสั่งวัคซีนจำนวนมากจากรัสเซียแทน
แต่สำหรับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน วัคซีนของจีนยังคงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลหลายแห่งเลือกที่จะมีท่าทีอ่อนข้อให้รัฐบาลกรุงปักกิ่ง เช่น กรณีของอินโดนีเซีย ซึ่งสื่อท้องถิ่นและประชาชนแสดงความรู้สึกมั่นใจที่จะสนับสนุน จนรัฐบาลกรุงจาการ์ตา ไม่ได้ออกหน้าแทนอาเซียนเจรจากับจีนประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ดังที่หลายประเทศสมาชิกหวัง
ในกรณีของฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตรเต้ ซึ่งมีปัญหาความนิยมตกต่ำสุดนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศมา เนื่องจากปัญหาการรับมือโควิด-19 ตัดสินใจเลือกไม่เผชิญหน้ากับจีนกรณีข้อพิพาท์นี้ และขอให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง พิจารณาให้ฟิลิปปินส์ มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนจีนเป็นประเทศแรกๆ แทน
แต่ไม่ว่าประเทศใดจะมีเหตุผลและท่าทีเช่นใด หวง ย่านจง นักวิจัยจาก Global Health at the Council on Foreign Relations ซึ่งตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก เห็นด้วยกับการที่จีนมีมิตรไมตรีเสนอความช่วยเหลือด้านวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า เรื่องนี้ยังมีความเสี่ยงที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งควรพึงระลึกอยู่ ซึ่งก็คือ จีนจะไม่สามารถควบคุมความเสียหายต่อภาพพจน์ของที่พยายามสร้างขึ้นมาได้เลย หากวัคซีนของตนใช้ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้จริง