สหรัฐฯ ออกคำสั่งมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่จีนเพิ่ม จากกรณีปราบปรามชุมนุมในฮ่องกง

Hong Kong students and Taiwanese supporters hold slogans reading: "Evil law under the pressure of the border, Work hand in hand " and ''The asylum mechanism is clearly in place'' during a protest against Beijing's national security legislation

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศดำเนินมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนอีก 14 ราย เนื่องจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในนโยบายของรัฐบาลกรุงปักกิ่งในการดำเนินการคุมเข้มการใช้สิทธิ์ของประชาชนในฮ่องกง

สำนักข่าว รอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศในวันจันทร์ สั่งดำเนินมาตรการห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนกลุ่มล่าสุดและสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด เนื่องจากมีส่วนในการปลดสมาชิกฝ่ายค้านของสภาฮ่องกงเมื่อเดือนที่แล้ว รวมทั้งสั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของทุกคนที่มีอยู่ในสหรัฐฯ และห้ามพลเมืองและบริษัทอเมริกันทำธุรกรรมใดๆ กับคนกลุ่มนี้ด้วย

รอยเตอร์ส รายงานเมื่อคืนวันอาทิตย์ว่า สหรัฐฯ มีแผนจะประกาศมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมการสภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือ National People’s Congress Standing Committee (NPCSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านนิติบัญญัติของจีน โดยรายงานดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นในเอเชียร่วงหนักหลังเปิดทำการในวันจันทร์

การตัดสินใจดำเนินมาตรการลงโทษครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นจุดยืนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในการต่อต้านจีน พร้อมๆ กับวางเส้นทางให้ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต้องเดินหน้าปะทะจีนต่อไปหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมของปีหน้าด้วย

China Hong Kong

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน สั่งดำเนินมาตรการลงโทษ แคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงทั้งชุดเก่าและชุดปัจจุบัน และผู้บริหารชั้นสูงของศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียนี้ ด้วยเหตุผลว่า มีส่วนร่วมในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการปราบปราบการประท้วงของกลุ่มประชาธิปไตย

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า “ความพยายามของปักกิ่งเพื่อรุกรานกระบวนการประชาธิปไตยของฮ่องกงอย่างไม่ลดละ กลับมาทำร้ายสภานิติบัญญัติ ที่กลายมาเป็นเพียงตรายางที่ปราศจากเสียงของฝ่ายค้านแล้ว”

พอมเพโอ กล่าวด้วยว่า สภาประชาชนแห่งชาติจีน ได้ทำการที่ส่งผลให้ประชาชนชาวฮ่องกงไม่สามารถเลือกผู้แทนของตนได้อย่างแท้จริง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งไม่ได้ใส่ใจพันธสัญญาสากล ภายใต้ปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ ที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรองแม้แต่น้อย