เมื่อวันศุกร์ แหล่งข่าวระบุว่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (Evergrande Group) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ชำระหนี้ส่วนหนึ่งด้วยการจ่ายเงินส่วนผลตอบเเทนตราสารหนี้ก่อนถึงเส้นตายเพียงสองวัน ทำให้ทางบริษัทมีเวลาจัดการกับวิกฤตหนี้ที่อาจส่งผลครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจจีน ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
แหล่งข่าวบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เมื่อวันพฤหัสบดี เอเวอร์แกรนด์โอนเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์ให้บัญชีทรัสตีของธนาคารซิตีแบงค์ ทำให้ทางบริษัทสามารถจ่ายดอกเบี้ยของตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะมีกำหนดชำระในวันเสาร์นี้ได้
เหตุดังกล่าวสร้างความโล่งใจให้แก่นักลงทุนและหน่วยงานกำกับดูแลที่กังวลว่า วิกฤตเอเวอร์แกรนด์อาจส่งผลต่อตลาดโลก ในขณะที่ทางการจีนยืนยันว่าเจ้าหนี้จะได้รับการคุ้มครอง
เอเวอร์แกรนด์มีหนี้กว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้มากที่สุดในโลก โดยบริษัทจะต้องชำระหนี้เป็นตราสารหนี้สกุลเงินอื่นและมีกำหนดชำระหนี้ครั้งต่อไปในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ท่ามกลางความกังวลว่าทางบริษัทจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ขณะที่เอเวอร์แกรนด์มียอดขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
เอเวอร์แกรนด์ยังไม่มีความเห็นต่อประเด็นนี้ ณ เวลาที่รายงาน ในขณะที่ธนาคารซิตีแบงค์ปฎิเสธให้ความเห็น
ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์ถูกก่อตั้งที่เมืองกว่างโจวเมื่อปีค.ศ. 1996 โดยการเติบโตของบริษัทสะท้อนการกู้เงินภายใต้นโยบายที่ธนาคารปล่อยสินเชื่ออย่างง่ายๆ ให้กับโครงการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตามบริษัทได้รับผลกระทบในเวลาต่อมา จากการที่ทางการจีนออกกฎใหม่เพื่อจำกัดการเป็นหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนให้มีการสร้างที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เเพง
เมื่อวันศุกร์ สื่อทางการของจีน Securities Times รายงานคำพูดของ นายฮุย คา ยัน ประธานบริษัทเอเวอร์แกรนด์ โดยเขากล่าวว่า ทางบริษัทจะลดการขายอสังหาริมทรัพย์ลงให้เหลือราว 31,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อยกเครื่องธุรกิจใหม่
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเอเวอร์แกรนด์หาทุนมาชำระหนี้ได้อย่างไร โดยทางบริษัทจะต้องหาเงินอีก 47.5 ล้านดอลลาร์เพื่อชำระภายในวันที่ 29 ตุลาคม และยังต้องชำระเงินอีกเกือบ 338 ล้านดอลลาร์ให้สถาบันการเงินต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม
จอห์น ฮัน จากสำนักงานกฎหมาย Kobre & Kim ในฮ่องกง ระบุว่า แม้การชำระหนี้ส่วนที่เป็นผลตอบเเทนพันธบัตรของเอเวอร์แกรนด์ครั้งนี้จะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังไม่เป็นเครื่องรับรองว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปีหน้าเป็นต้นไปหรือไม่
ทั้งนี้ หากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระหนี้ในสัปดาห์หน้า หรือหนี้ในครั้งต่อๆ ไปในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ การผิดการชำระหนี้ของบริษัทจะส่งผลต่อตราสารหนี้ของบริษัทมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ในตลาดทุนระหว่างประเทศ และอาจเป็นการผิดหนี้ครั้งใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่สองของบริษัทในตลาดเกิดใหม่ หลังเหตุบริษัทน้ำมันของรัฐบาลเวเนซูเอลาไม่ชำระหนี้ตามกำหนด
การชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ครั้งนี้เกิดขึ้นหนึ่งวัน หลัง REDD ผู้ให้บริการข้อมูลด้านการเงิน รายงานว่า เอเวอร์แกรนด์สามารถซื้อเวลาเพื่อชำระตราสารหนี้ที่ออกโดย Jumbo Fortune Enterprises
นักกฎหมายด้านการชำระหนี้รายหนึ่งระบุว่า เอเวอร์แกรนด์เลี่ยงการผิดชำระหนี้ได้ในระยะสั้น ช่วยต่อเวลาในการสร้างสภาพคล่องและการยอมรับจากผู้ถือหุ้นได้ ก่อนจะเผชิญงานใหญ่ในการปรับโครงสร้างหนี้ในขั้นต่อไป
ก่อนหน้านี้ เอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระเงินส่วนที่เป็นดอกเบี้ยของตราสารหนี้เป็นมูลค่ารวมเกือบ 280 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 29 กันยายน และ 11 ตุลาคม โดยการผิดชำระหนี้ทั้งสามครั้งมีช่วงเวลาผ่อนผันครั้งละ 30 วัน
ความเคลื่อนไหวของตลาด
ข้อมูลจาก Duration Finance ระบุว่า เมื่อวันศุกร์ช่วงเช้า ตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์ของเอเวอร์แกรนด์มีราคาสูงขึ้นหลังมีรายงานข่าวการชำระหนี้งวดนี้ ในขณะที่ตราสารหนี้สำหรับเดือนเมษายนปีหน้าและปีค.ศ. 2023 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้เหล่านี้ยังถูกซื้อขายด้วยราคาต่ำกว่ามูลค่าบนตราสารหนี้ถึงกว่าหนึ่งในสี่
เเต่ต่อมาเกิดเเรงเทขาย ทำให้ตราสารหนี้ประเภทอื่นของบริษัทมีมูลค่าลดลงกว่า 6 เปอร์เซ็นต์
วิกฤตเอเวอร์แกรนด์ส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์จีนมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าราวหนึ่งในสี่ของเศรษฐกิจจีน
การชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ครั้งนี้ทำให้ดัชนีหุ้นฮั่งเส็ง หมวดอสังหาริมทรัพย์ของจีน พุ่งตัวขึ้น 3.3 เปอร์เซ็นต์ โดยดัชนี CSI300 Real Estate ปิดตัวเพิ่มขึ้น 2.4 เปอร์เซ็นต์ และดัชนีของภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมปิดตัวที่ 2 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ หากเอเวอร์แกรนด์ล้มละลาย จะส่งผลต่อโครงการอสังหาริมทรัพย์กว่า 1,300 โครงการใน 280 เมืองทั่วประเทศ
เอกสารที่ถูกเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว ที่เอเวอร์แกรนด์ระบุว่าเป็นเอกสารเท็จแต่เป็นเอกสารได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์ เผยให้เห็นว่า เอเวอร์แกรนด์เป็นหนี้กับธนาคารกว่า 128 ธนาคารรวมถึงสถาบันการเงินประเภทอื่นอีกกว่า 121 แห่ง
นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าธนาคารจะจัดการทางการเงินกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อาจหยุดชะงักลงอย่างไร แต่ยอดปิดจองอสังหาริมทรัพย์ล่วงหน้าที่ลดลงอย่างมากทำให้คาดการณ์ได้ว่า ธุรกิจในประเทศของบริษัทอาจไม่สามารถทำเงินให้เอเวอร์แกรนด์ได้ในระยะเวลาอันใกล้ได้
(ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์)