Your browser doesn’t support HTML5
คิริบาติเป็นประเทศซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะเล็กๆ 33 เกาะที่ตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกโดยมีออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้และญี่ปุ่นกับจีนอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในขณะที่เม็กซิโกกับทวีปอเมริกาใต้อยู่ห่างออกไปทางด้านตะวันออก
คิริบาติมีประชากรรวมทั้งสิ้นเพียงแค่ราว 110,000 คน แต่ถึงจะอยู่ห่างจากประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่กว่าคือออสเตรเลียกับจีนเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรก็ตามแต่ขณะนี้คิริบาติก็มีสถานทูตของสามประเทศตั้งอยู่ คือออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และคิวบา ส่วนจีนปักกิ่งเพิ่งเปิดสถานทูตของตนเมื่อเดือนพฤษภาคมหลังจากที่คิริบาติประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนไต้หวันเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างจีนปักกิ่งกับคิริบาตินับเป็นตัวอย่างล่าสุดในความพยายามของจีนเพื่อขยายอิทธิพลในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่และมีแหล่งทรัพยากรใต้ทะเล รวมทั้งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปอเมริกาด้วย และคิริบาติก็เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศซึ่งเป็นเป้าของการแข่งขันเพื่อเพิ่มอิทธิพลในแง่ภูมิรัฐศาสตร์จากหลายมหาอำนาจเช่นกัน
ก่อนหน้านี้คิริบาติเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐ และออสเตรเลียประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ก็เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงและเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดแก่คิริบาติด้วย แต่ขณะนี้จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่อันดับสองแก่คิริบาติรองจากออสเตรเลีย และความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีนแก่ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ นี้ได้เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเบ่าเดินทางไปเยือนประเทศดังกล่าว
แต่นอกเหนือจากความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแล้ว ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลจีนได้เร่งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่เป็นหมู่เกาะในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางรวม 10 ประเทศทั้งในแง่คำแนะนำทางการแพทย์และการให้เงินช่วยเหลือกับอุปกรณ์ด้านการแพทย์มูลค่าราว 2 ล้านดอลลาร์รวมทั้งได้ส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือประเทศซามัวและส่งพาหนะทางทหารให้กับฟิจิซึ่งก็เป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือของจีนที่ให้กับประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับความช่วยเหลือด้านการเงินจากออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งประกาศให้เงินช่วยเหลือ 100 ล้านดอลลาร์แก่ 10 ประเทศกลางมหาสมุทรแปซิฟิกรวมทั้งประกาศเรื่องการส่งรายการโทรทัศน์ของออสเตรเลียผ่านทางดาวเทียมเพื่อให้ประชาชนในประเทศที่เป็นเกาะมีโอกาสได้ชม โดยขณะที่นายโจนาธาน ไพรค ผู้อำนวยการโครงการศึกษาหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคของสถาบัน Lowy ตั้งข้อสังเกตว่าจีนฉวยโอกาสจากปัญหาของโลกในปัจจุบันเพื่อเพิ่มบทบาทอิทธิพลต่อประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคนั้น เขาก็ชี้ว่าออสเตรเลียกำลังพยายามแข่งขันด้วยการใช้ soft power เพื่อต่อต้านบทบาทอิทธิพลของจีนเช่นกัน
เมื่อสองปีที่แล้วนายกรัฐมนตรีสก็อต มอริสันของออสเตรเลียประกาศโครงการริเริ่มที่มีชื่อว่า Pacific Step Up ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือและจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สำหรับประเทศกลางมหาสมุทรแปซิฟิกนี้ และเมื่อเดือนที่แล้ว นายเดฟ ชาร์มา ส.ส. ของพรรครัฐบาลออสเตรเลียได้แสดงความเห็นผ่านทางหนังสือพิมพ์ของออสเตรเลียว่าความช่วยเหลือจากรัฐบาลกรุงแคนเบอร์ราต่อประเทศหมู่เกาะเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้ประเทศดังกล่าวยังคงให้ความสำคัญกับออสเตรเลียในฐานะประเทศหุ้นส่วนอันดับแรกอยู่ และว่าการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรแปซิฟิกขณะนี้เป็นไปอย่างเข้มข้นจริงจัง
โดยขณะที่จีนกับประเทศอื่นๆ พยายามเสนอตัวเพื่อมีบทบาทมากขึ้นก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ออสเตรเลียจะต้องรักษาอิทธิพลและรอยเท้าของตนไว้เพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้สามารถมองเห็นได้อยู่ต่อไป