เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากปัญหาพลังงาน-ภาคการก่อสร้างชะงักงัน

A crane loads a container onto a truck at Lianyungang Port in Lianyungang in China's eastern Jiangsu province on September 7, 2021.

เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญแรงกดดันรอบใหม่จากปัญหาขาดแคลนพลังงาน และการชะลอตัวของภาคการก่อสร้าง ส่งสัญญาณเตือนถึงประเทศคู่ค้าของจีนและตลาดการเงินโลก

รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนที่เปิดเผยในวันจันทร์ ชี้ว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ขยายตัวที่ระดับ 4.9% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และลดจากระดับการเติบโตที่ 7.9% เมื่อไตรมาสที่สอง

รายงานระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายปลีกสินค้า และการลงทุนในภาคการก่อสร้าง รวมทั้งสินทรัพย์ถาวรอื่น ๆ ล้วนปรับตัวลดลง ในขณะที่ภาคการผลิตประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานและชิ้นส่วนสำคัญบางอย่าง เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

ภาคการก่อสร้างซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่สร้างงานหลายล้านตำแหน่ง กำลังชะลอตัวหลังจากที่ทางการจีนกดดันให้บรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ลดปริมาณการกู้ยืมเงินเนื่องจากความกังวลว่ายอดหนี้ของภาคธุรกิจสูงเกินไป ส่งผลให้ยอดขายบ้าน และความต้องการวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ต่างลดลงตามไปด้วย

เวลานี้ผู้นำรัฐบาลจีนกำลังพยายามปรับเปลี่ยนพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการเน้นพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศแทนการส่งออกและการลงทุน ควบคู่ไปกับการลดความเสี่ยงในภาคการเงินการธนาคาร

ตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบจากการจัดระเบียบภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน คือ บริษัทเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (Evergrande Group) หนึ่งในบริษัทอสังริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของจีน ต้องประสบปัญหาในการชำระหนี้มูลค่า 310,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากในหมู่นักลงทุนว่าอาจนำไปสู่วิกฤติฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาฯ ของจีน

ขณะเดียวกัน โรงงานในหลายมณฑลของจีนต้องปิดตัวลงในเดือนกันยายนเนื่องจากรัฐบาลจำกัดการใช้พลังงานไฟฟ้า และปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่าง ๆ ทำให้การขยายตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนกันยายนลดลงเหลือเพียง 0.05% จากระดับ 7.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้