Your browser doesn’t support HTML5
จีนเป็นตลาดใหญ่ของบริษัทต่างชาติที่ต้องการขายเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการผลิตในโรงงาน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าจีนเป็นศูนย์ผลิตสินค้าของหลายอุตสาหกรรมสู่ตลาดโลก
แต่ขณะเดียวกันในประเทศจีนเองก็มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านหุ่นยนต์ เพื่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และสามารถสร้างสินค้านี้ที่ราคาต่ำกว่าคู่แข่งด้วย
ตัวอย่างเช่น บริษัท E-Deoder ในเครือ Ningbo Techmation ผลิตหุ่นยนต์ที่ทำงานในโรงงานได้ราคาถูกกว่าผู้นำตลาดจากเยอรมนีและญี่ปุ่น 20 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
เบนจามิน โจฟ ผู้บริหารกลุ่มทุน Hax ให้สัมภาษณ์กับ Voice of America ที่งาน Global Mobile Internet Conference ที่ปักกิ่งว่า จีนสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากจุดแข็งที่ว่า นักพัฒนาเทคโนโลยีสามารถใช้จีนเป็นแหล่งสร้างผลิตภัณฑ์ไฮเทคให้เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน
สิ่งที่นักลงทุนชื่นชอบในระบบการผลิตของจีนคือเครือข่ายการผลิตที่ใหญ่ พร้อมด้วยระบบบริหารจัดการการขนส่งสินค้า นอกจากนั้นทักษะแรงการของจีนก็พัฒนาเพื่อรับความรู้ใหม่ๆ ได้มาก
เบนจามิน โจฟ กล่าวว่าสำหรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ นักลงทุนมองหาจุดแข็งจากความสามารถที่จะสร้างเทคโนโลยีต้นแบบได้อย่างรวดเร็วในราคาต่ำ และศักยภาพในการเร่งการผลิตจากปริมาณจำกัดไปสู่การป้อนตลาดใหญ่ได้อย่างทันสถานการณ์
หน่วยงาน International Federation for Robotics หรือ IFR พยากรณ์ไม่นานนี้ว่าภายในปีหน้าจีนจะแซงหน้าญี่ปุ่นและกลายเป็นประเทศที่มีหุ่นยนต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก
IFR ประเมินว่าขนาดตลาดหุ่นยนต์เพื่อกิจการอุตสาหกรรมของจีนมีมูลค่าราว 9,500 ล้านดอลลาร์ และหนึ่งในสี่ของหุ่นยนต์เพื่อการผลิตในโรงงานทั่วโลก 240,000 ตัว ถูกผลิตจากจีน
แน่นอนว่าการที่จีนเป็นฐานการผลิตสินค้าต่างๆ ป้อนตลาดโลก ทำให้ความต้องการหุ่นยนต์ในโรงงานของประเทศจีนเองย่อมมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากนี้อีกมาก
และเมื่อเทียบอัตราส่วนคนงานต่อหุ่นยนต์ในจีน จะเห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สามารถป้อนตลาดภายในประเทศได้ กล่าวคือจีนมีหุ่นยนต์ 30 ตัวในโรงงานต่อคนงาน 10,000 คน เทียบกับหุ่นยนต์ 437 ตัวต่อคนงาน 10,000 คนในเกาหลีใต้ และ 323 ตัวในญี่ปุ่น
สำหรับสหรัฐฯและเยอรมนีตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 152 และ 282 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาถึงโอกาสการเติบโต ทางการกรุงปักกิ่งและภาคธุรกิจของจีนจึงพยายามเตรียมความพร้อมทั้งทางเทคนิค แรงงานและเงินทุน เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้ในโรงงาน
(รายงานโดย Saibal Dasgupta เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)