จีนควบคุม 'การทำแท้ง' หวังยับยั้งปัญหาประชากรลดลง

Your browser doesn’t support HTML5

China Restricts Abortions


การปิดป้ายโฆษณาการทำแท้งที่ปลอดภัย รวดเร็ว และไม่เจ็บปวด ตามป้ายรถเมล์ ในนิตยสาร และบนใบปลิว ในยุคแห่งการมีบุตรคนเดียวของประเทศจีนที่มีมานานสามทศวรรษ กำลังเผชิญกับข้อจำกัดต่าง ๆ

แนวทางฉบับใหม่เรื่องการพัฒนาสตรี Guidance on Women’s Development 2021-2030 โดยคณะมนตรีจีน เรียกร้องให้ "ลดการทำแท้งที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์" กำลังได้รับความสนใจจากสาธารณชน

ประกาศดังกล่าวซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 กันยายน ไม่ได้มีรายละเอียดที่จำเพาะเจาะจงเกี่ยวกับการบังคับใช้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชน ซึ่งวีโอเอภาคภาษาจีนกลาง พบว่ามีความคิดเห็นถึง 40,000 รายการ ภายใต้บทความเกี่ยวกับคำสั่งที่เผยแพร่บนเวบไซต์ 163.com ของจีน

ความพยายามของรัฐบาลจีนที่เริ่มขึ้นเมื่อต้นปีนี้เพื่อส่งเสริมให้ประชากรมีบุตรสามคน หลังจากที่นโยบายมีบุตรคนเดียวกำลังสร้างปัญหาให้แก่สังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดข้อคิดเห็นมากมาก เช่น ความคิดเห็นหนึ่งระบุว่าอาจต้องมีการเชิญชวนให้ผู้คนซื้อถุงยางอนามัยกันมากขึ้นในอนาคต

บ้างก็ว่ารัฐบาลจีนพยายามทำทุกวิถีทางให้บรรลุเป้าหมายของตน ตั้งแต่การบังคับให้ทำแท้ง ไปจนถึงการบังคับให้มีบุตร อีกความคิดเห็นหนึ่งกล่าวว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการทำแท้ง เพราะตนจะไม่มียอมมีบุตร ถึงแม้ว่าจะมาคุกเข่าขอร้องก็ตาม

บรรดานักเคลื่อนไหวต่างวิพากษ์วิจารณ์การแทรกแซงของรัฐบาลจีนต่อสิทธิในการมีบุตรของสตรี

Zhang Jing ผู้ก่อตั้งองค์กร Women's Rights in China ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในนครนิวยอร์ก กล่าวกับวีโอเอในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การลดการทำแท้งที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์นั้นเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่รัฐบาลจีนแทรกแซงสิทธิในการมีบุตรของสตรี และว่า รัฐบาลจีนตระหนักว่ากำลังเกิดปัญหาขาดแคลนประชากรในประเทศ จึงมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้วยการส่งเสริมให้ประชากรมีบุตร ซึ่งเธอเชื่อว่าจะกลายเป็นข้อบังคับในที่สุด

เธอกล่าวต่อไปว่า การออกนโยบายประชากรต่าง ๆ ตั้งแต่การบังคับทำแท้งในยุคนโยบายมีบุตรคนเดียว ไปจนถึงการบังคับให้มีบุตรในยุคนโยบายลูกสามคนนั้น ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีแต่อย่างใด

Chen Guangcheng นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองจีนและเป็นผู้เขียนหนังสือ The Barefoot Lawyer: A Blind Man's Fight for Justice and Freedom in China กังวลว่า นโยบายนี้หมายความว่าจีนจะห้ามการทำแท้งทุกรูปแบบในไม่ช้านี้หรือไม่

แต่ Yi Fuxian นักวิชาการอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัย University of Wisconsin-Madison และผู้เขียนหนังสือ Big Country With an Empty Nest โต้แย้งว่า แนวทางใหม่นี้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

เขากล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า แม้ว่าจีนจะควบคุมการทำแท้ง แต่เขาไม่คิดว่านโยบายนี้จะเข้มงวดเหมือนในสหรัฐฯ หรือออสเตรเลีย แต่ละบุคคลจะยังคงมีอิสระมากมายในการตัดสินใจ และว่าไม่ควรตีความเกินจริงจากแนวทางเพียงหนึ่งบรรทัดเพราะการที่อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงนั้นเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์

ทั้งนี้ จีนต้องต่อสู้ดิ้นรนกับการที่ประชากรในประเทศมีอายุมากขึ้นและมีอัตราการเกิดที่ลดลง ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านประชากรเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตด้านประชากร

ตัวเลขสำมะโนประชากรที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคมโดยสำนักสถิติแห่งชาติของจีน แสดงให้เห็นว่า อัตราการเติบโตของประชากรจีนจากปี 2011 ถึง 2020 นั้นช้าที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 นอกจากนี้ อัตราการเกิดลดลงเป็นเวลาสี่ปีติดต่อกันหลังจากที่จีนเลิกใช้นโยบายบุตรคนเดียวในต้นปี 2016

และในปี 2000 มีทารกเกิดใหม่เพียง 12 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1961

ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ จีนประกาศว่าคู่สมรสสามารถมีลูกได้ถึงสามคน เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาแรงงานที่ลดลง แต่อัตราการทำแท้งของจีนยังคงสูงอยู่ คุณ Yi จากมหาวิทยาลัย University of Wisconsin-Madison กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่จีนจะควบคุมการทำแท้ง

และเขาคิดว่า "การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรได้รับการยกย่องจากประชาคมระหว่างประเทศมากกว่าที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์"