"หยุด" ส่งออกสินแร่หายาก คำขู่หรือไพ่เด็ดใบใหม่ของจีนเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ?

rare earth metal

หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามใช้อุปกรณ์หัวเหว่ย และห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกิจทุกประเภทกับ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เนื่องมาจากความกังวลด้านความมั่นคงนั้น หลายฝ่ายก็จับจ้องท่าทีของจีน ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาตอบโต้ โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จีนอาจจะควัก “ไพ่ใบเด็ด” ออกมาใช้ โดยการหยุดการส่งออกสินแร่หายาก หรือ Rare Earth ไปยังสหรัฐอเมริกา

จีนเป็นผู้ส่งออกสินแร่หายากที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสินแร่หายาก เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่าง ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงแบตเตอรี่ในรถยนต์แบบไฮบริด

สินแร่หายากจึงเป็นวัตถุดิบที่เป็นที่ต้องการสูง หากจีนไม่ยอมส่งออกสินแร่หายาก ก็อาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีต่าง ๆ

่ทั้งนี้ ยังไม่มีความแน่ชัดว่า จีนจะใช้มาตรการนี้เมื่อไหร่ และการยุติการส่งออกสินแร่หายากไปยังสหรัฐฯ จะได้ผลมากน้อยเพียงใด

จีนส่งสัญญาณออกมาเป็นระยะ ๆ ว่าจีนอาจจะหยุดการส่งออกสินแร่หายาก ตั้งแต่ที่นาย สี จิ้นผิง ผู้นำของจีน เดินทางไปเยี่ยมเหมืองแร่เมื่อเดือนพฤษภาคม สัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีน ยังตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่ร้อนแรง เตือนสหรัฐฯ ว่าอย่าประเมินจีนต่ำไป ว่าจีนจะไม่สู้กลับเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

บทบรรณาธิการดังกล่าว เสริมว่า "สินแร่หายากจะกลายมาเป็นอาวุธที่จีนใช้โต้ตอบอเมริกาที่กดดันจีนอย่างไม่มีเหตุผลหรือไม่นั้น คำตอบก็เห็น ๆ กันอยู่แล้ว” และยังส่งข้อความถึงสหรัฐฯ ด้วยว่า “อย่าหาว่าไม่เตือน”

ประโยคดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์หลายคนหันมาสนใจในประเด็นสินแร่หายากของจีน บ้างก็คาดคะเนว่าการหยุดส่งออกสินแร่หายากของจีน จะนำไปสู่สงครามการค้าเต็มตัว

ทั้งนี้เพราะ หนังสือพิมพ์ People’s Daily ได้เคยใช้ถ้อยคำที่รุนแรงในลักษณะเดียวกันนี้ ก่อนที่จีนจะทำสงครามกับเวียดนามในปี พ.ศ. 2522 และก่อนที่จะเข้าทำสงครามกับอินเดียด้วยข้อพิพิาทเรื่องชายแดน ในปี พ.ศ.2505

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า การใช้สินแร่หายากเป็นอาวุธต่อรองกับสหรัฐฯ อาจจะกลายเป็นดาบสองคม เช่นเดียวกับที่มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ที่สหรัฐฯ นำมาใช้ลงโทษจีน ส่งผลกระทบต่อบริษัทและผู้บริโภคอเมริกันด้วย

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตสินแร่หายากที่ใหญ่ที่สุด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจีนเป็นประเทศเดียวที่ผลิตได้ ยังมี ออสเตรเลีย ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก บราซิล และเวียดนามมีปริมาณสำรองแร่ประมาณ 22 ล้านตัน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของจีน

ทางฝั่งสหรัฐฯ เอง ก็มีปริมาณสำรองแร่ประมาณ 1.4 ล้านตัน โดยอ้างอิงข้อมูลจาก U.S. Geological Survey

นาย หลิว เหมิงชุน นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเศษฐกิจ ชุงหัว ของจีน สำนักงานไต้หวัน กล่าวว่า หากจีนหยุดการส่งออกสินแร่หายาก ผลกระทบก็อาจจะมีน้อยมาก เพราะสินแร่หายาก ไม่เหมือนพลังงานอื่นๆ เช่น น้ำมัน หรือแก๊สธรรมชาติ ที่ถึงจะมีการห้ามส่งออก ก็ไม่ส่งผลต่อราคาสินค้าอื่น ๆ โดยทันที หรือทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชนในประเทศที่ได้รับผลกระทบ

เขาบอกว่า “่สินแร่หายากมีการใช้ในวงจำกัด และทุก ๆ ประเทศก็มีปริมาณสำรองแร่ในระดับพอสมควร โดยเฉพาะปริมาณที่จะนำไปใช้ในการทหาร บางประเทศ เช่น ญีปุ่น ก็ค้นพบวิธีการทดแทนสินแร่หายาก เพราะฉะนั้น แต่ละประเทศก็มีวิธีที่จะรับมือหลายวิธี หากเกิดการขาดแคลนสินแร่หายากขึ้นมา”

จีนเคยตัดการส่งออกสินแร่หายากไปญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2553 แต่ ญี่ปุ่น จับมือกับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศผู้นำเข้าสินแร่หายากประเทศอื่น ยื่นคำร้องต่อ องค์การการค้าโลก เพื่อร้องเรียนการกระทำของจีน โดยองค์การการค้าโลกตัดสินว่าจีนไม่สามารถจำกัดการส่งออกสินแร่หายากได้

ซึ่งตอนนั้น จีนได้อ้างว่า จีนต้องจำกัดการส่งออกสินแร่หายาก เพราะต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมและรักษาทรัพยากรของประเทศ

ในการประชุมระหว่างทางการและผู้เชี่ยวชาญสินแร่หายากของจีน ในวันอังคารที่ผ่านมา ก็มีการหารือถึงการใช้ความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนี้ มาเป็นเหตุผลในการควบคุมการผลิตและส่งออกสินแร่หายากอีกครั้ง