Your browser doesn’t support HTML5
จีนกำลังเผชิญความท้าทายหลายด้านในเวลานี้ ตั้งแต่ ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ไปจนถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายประเภท แต่วิกฤตหนี้สินในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังคุกรุ่นอยู่นี้ ส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจของประเทศนี้อาจจะตกอยู่สถานะย่ำแย่หนักขึ้นไปอีกในไม่ช้านี้แล้ว
หลายคนหันมาจับตาดูภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนอย่างใกล้ชิด หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่มีปัญหาด้านการเงินครั้งใหญ่จากหนี้เงินกู้ถึงกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ และรัฐบาลจีนส่งสัญญาณว่าจะไม่เข้าช่วยเหลือใดๆ แม้ว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นถือครองสัดส่วนเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของจีน ซึ่งคล้ายๆ กับกรณีของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ
ขณะเดียวกัน วิกฤติของ เอเวอร์แกรนด์ นั้นเริ่มกลายมาเป็นสถานการณ์ที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ของจีนเริ่มประสบด้วยเช่นกัน โดยหลายแห่งเริ่มผิดชำระหนี้ของตน หรือไม่ก็ขอให้เจ้าหนี้ยืดระยะเวลากำหนดชำระเงินกู้ออกไปแล้ว
วิกฤติในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนปะทุออกมาในช่วงที่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกมีปัญหาการขาดแคลนถ่านหินอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งประเด็นการคว่ำบาตรถ่านหินจากออสเตรเลีย และกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ของภาครัฐในการควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน ที่ทำให้มีการเลิกลงทุน หรือลดการขุดไปแล้ว
ทั้งนี้ จีนพึ่งพาถ่านหินในการผลิตพลังงานไฟฟ้าถึง 70 เปอร์เซ็นต์
ในส่วนของประเด็นการผิดชำระหนี้ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนนั้น นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความกังวลหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น มูดดี้ส์ (Moody’s Investors Service) ฟิทช์ (Fitch Ratings) และ เอสแอนด์พี (S&P Global Ratings) ต่างปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจีนหลายแห่งไปเรียบร้อยแล้วด้วย
ดั๊ก แบร์รี โฆษกของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน บอกกับ วีโอเอ ว่า ปัญหาที่เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญอยู่นี้คือ การที่ต้องเสนออัตราผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้นไปอีก เพื่อเสนอขายตราสารหนี้ให้กับนักลงทุนในตลาดโลก ขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามายังจีนน่าจะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แบร์รี กล่าวเสริมว่า ผลกระทบที่เห็นได้ชัดทันทีจากปัญหาในจีนคือ การลดลงของการลงทุนในจีนจากต่างประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ซึ่งเมื่อคำนวณร่วมกับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานแล้ว ถือว่า จีนกำลังอยู่ใน ”ภาวะที่น่วม” พอควร