Your browser doesn’t support HTML5
สภาแห่งชาติจีนเพิ่งลงมติในวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น ผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่เพื่อที่จะไปบังคับใช้ในฮ่องกง และเอื้อให้รัฐบาลจีนมีอำนาจควบคุมเขตกึ่งปกครองตนเองแห่งนี้มากขึ้น
รายงานข่าวระบุว่า ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ จีนจะออกมาตรการใหม่ ๆ ให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจากจีนแผ่นดินใหญ่ทำการถอนรากถอนโคนการเคลื่อนไหวที่อยู่ในข่าย เป็น “การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างการปกครอง หรือการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย รวมทั้งการแทรกแซงจากนอกประเทศ” แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านออกมามากมายทั้งในฮ่องกงและจากประเทศอื่นๆ ก็ตาม
จุดที่นักวิเคราะห์จับตามองในประเด็นการออกกฎหมายใหม่นี้ คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจยกระดับเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การโต้ตอบในรูปแบบต่างๆ หลังรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ แจ้งต่อสภาสหรัฐฯ ในวันพุธว่า ฮ่องกงขาดความเป็นอิสระในการปกครองตนเองแล้ว ซึ่งหมายถึง ผลกระทบอย่างมหาศาลในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับฮ่องกง
หวู่ ร่วย-เหริน นักวิจัยจากสถาบัน Academia Sinica ในกรุงไทเป ของไต้หวัน ให้ความเห็นว่า จากมุมมองด้านภูมิศาสตร์การเมืองของประเด็นนี้ อาจกล่าวได้ว่า การสู้รบรอบแรกในสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และหลังจากนี้ สหรัฐฯ อาจออกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ซึ่งจะอาจทำให้สถานภาพของฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียสะเทือนได้ และจีนเองก็อาจต้องรับผลกระทบในด้านนี้ไปด้วย
หลายฝ่ายมองว่า การที่จีนพยายามผลักดันกฎหมายใหม่เพื่อให้ตนเข้าควบคุมฮ่องกงได้ เป็นเหมือนการถอยห่างจากคำสัญญาในการดำเนินการปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” หลังอังกฤษส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้จีนเมื่อปี ค.ศ. 1997 ทั้งยังผิดสัญญาที่จะส่งเสริมให้ฮ่องกงมีอำนาจปกครองตนเองที่เป็นเอกราชมากขึ้นก่อนปี ค.ศ. 2047 ด้วย แต่ในกรณีหลังนี้ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง เพิ่งปฏิเสธในระหว่างการประชุมสภาแห่งชาติจีนที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ พร้อมกล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้เป็นการช่วยให้การเป็น “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ดำเนินไปอย่างมั่นคงและให้ฮ่องกงเจริญรุ่งเรืองและมีเสถียรภาพในระยะยาวต่างหาก
เมื่อมองต่อไปในอนาคต หลังกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ดรูว์ ธอมป์สัน นักวิจัยอาวุโสจาก สถาบันนโยบายสาธารณะ ลี กวน ยู แห่ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มองว่า หากสหรัฐฯ ทำการคว่ำบาตรจริงๆ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบนั้นจะเป็นชาวฮ่องกง ไม่ใช่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน อย่างที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันต้องการ และในเวลานี้ ยังไม่มีใครบอกได้ว่า สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจจะเป็นไปเช่นใด เพราะต้องรอดูเนื้อหาของกฎหมายนี้ก่อน
ขณะเดียวกัน หลอ คาชุง อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of Communications ในฮ่องกง บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ว่า หากรัฐบาลกรุงวอชิงตันเลือกที่จะทำการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ของเจ้าหน้าที่รัฐของจีนและฮ่องกงที่มีส่วนในการผลักดันกฎหมายนี้ จีนก็อาจตอบโต้ด้วยการยึดทรัพย์ของธุรกิจสัญชาติอเมริกันในฮ่องกง และสั่งจำกัดธุรกรรมการเงินที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศได้ ซึ่งก็จะนำไปสู่การล่มสลายของการเป็นศูนย์กลางการเงินของฮ่องกง ซึ่งอยู่ในภาวะระส่ำมาสักพัก เพราะการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนไปมากมายเรียบร้อยแล้ว