Your browser doesn’t support HTML5
กระทรวงกลาโหมของมาเลเซียมีแผนจะซื้อเครื่องบินรบและเรือลาดตระเวนในแผนปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยเพื่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในบางพื้นที่ของทะเลจีนใต้ ซึ่งมาเลเซียมีกรณีพิพาทกับจีนอยู่ในขณะนี้
โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่ายุทโธปกรณ์ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากจีนด้วย ขณะที่ประชาชนในประเทศต้องการให้รัฐบาลใช้เงินงบประมาณเพื่อข่วยเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่า
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน กระทรวงกลาโหมของมาเลเซียประกาศเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ขนาดเบาและเครื่องบินฝึกสำหรับกองทัพอากาศ ซึ่งตามแผนฟื้นฟูกองทัพที่มีชื่อว่า Capability 55 นี้มาเลเซียต้องการซื้อเครื่องบินรุ่นแรกจำนวน 18 ลำและอีก 18 ลำภายในปี ค.ศ. 2025 รวมทั้งอากาศยานลาดตระเวนแบบไร้คนขับอีก 6 ลำด้วย
และนักวิเคราะห์ชี้ว่า การซื้อยุทโธปกรณ์เพิ่มนี้เป็นแผนของกระทรวงกลาโหมมาเลเซียเพื่อเฝ้าติดตามเรือของจีนในบางพื้นที่ของทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นกรณีพิพาทกันอยู่ระหว่างมาเลเซียกับจีน
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของมาเลเซียประกาศว่าจะซื้อเรือลาดตระเวนใกล้ชายฝั่ง 4 ลำจากจีน ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งในตัวเองสำหรับการซื้อยุทโธปกรณ์จากประเทศคู่กรณีพิพาท แต่ก็เป็นเครื่องแสดงถึงความสลับซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับจริงด้วย
และเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียได้ประท้วงการที่เครื่องบินรบของจีน 16 ลำบินเข้าใกล้ชายฝั่งเกาะบอร์เนียวของมาเลเซียในระยะห่าง 111 กิโลเมตร ซึ่งเรดาร์ของทางการมาเลเซียตรวจจับได้
คุณ Oh Ei Sun นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Singapore Institute of International Affairs ได้ชี้ว่า กรณีที่ว่านี้ช่วยตอกย้ำความจำเป็นที่มาเลเซียจะต้องมีเครื่องบินลาดตระเวนซึ่งทันสมัยมากขึ้นเพื่อทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่าที่ล้าสมัยแล้ว
ส่วนคุณ Shariman Lockman นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสถาบัน Institute of Strategic and International Studies ในมาเลเซีย ก็เสริมว่าความเคลื่อนไหวของจีนในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มาเลเซียไม่อาจละเลยได้ และว่ามาเลเซียจำเป็นต้องวางแผนเพื่อเตรียมตัวในระยะยาว
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีกรณีการประจัญหน้ากันระหว่างมาเลเซียกับจีนในทะเลใกล้เกาะบอร์เนียวซึ่งมีแหล่งทรัพยากรพลังงานใต้ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ โดยมาเลเซียมีกิจกรรมสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวขณะที่เกิดการประจัญหน้ากัน
ขณะนี้จีนอ้างกรรมสิทธิ์ราว 90% เหนือพื้นที่ประมาณ 3 ล้าน 5 แสนตารางกิโลเมตรของทะเลจีนใต้ซึ่งมีบริเวณครอบคลุมตั้งแต่มาเลเซียไปจนถึงฮ่องกง และนอกจากมาเลเซียแล้ว บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กับไต้หวัน ก็เป็นคู่กรณีพิพาทอยู่กับจีนในพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ด้วยเช่นกัน แต่ในบรรดาประเทศเหล่านี้จีนมีศักยภาพด้านการทหารสูงที่สุด
ในขณะนี้มีรายงานว่า กระทรวงกลาโหมของมาเลเซียอาจพิจารณาซื้อเครื่องบินรบรุ่นใหม่จากยุโรป อินเดีย ปากีสถาน รัสเซีย เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลมาเลเซียกำลังต้องรับมือและมีการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 นั้น คุณ Shariman Lockman นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Institute of Strategic and International Studies ในมาเลเซีย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนมาเลเซียกำลังคาดหวังให้รัฐบาลใช้เงินภาษีเพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบจากปัญหาโควิดมากกว่าที่จะใช้ซื้ออาวุธจากต่างประเทศ