นักวิเคราะห์ชี้กรณีพิพาทกลุ่มเกาะเซ็นกากุหรือเตียวหยูในทะเลจีนตะวันออกมาจากความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์และการเมืองภายในของญี่ปุ่นกับจีน

เชื่อว่าประเด็นขัดแย้งเรื่องเซ็นกากุและการอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะอื่นๆ ในทะเลจีนใต้จะอยู่ในวาระหารือการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคด้วย
นาย Justin Logan นักวิเคราะห์ของสถาบัน Cato ในสหรัฐฯ มองว่า ความขัดแย้งเรื่องกลุ่มเกาะในทะเลจีนตะวันออกระหว่างสองประเทศสำคัญในเอเซีย ซึ่งเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่าเซ็นกากุหรือในภาษาจีนว่าเตียวหยูนั้น มีที่มาจากความขัดแย้งในประวัติศาสตร์อันยาวนานรวมทั้งการเมืองภายในของญี่ปุ่นกับจีนเอง และจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคือแหล่งประมงและแหล่งแก๊สธรรมชาติรอบๆ เกาะด้วย ความขัดแย้งดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมของจีนไปขึ้นฝั่งบนกลุ่มเกาะเล็กๆ แห่งนี้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมซึ่งเป็นโอกาสครบรอบการยอมพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

นักวิเคราะห์ผู้นี้มองด้วยว่าความกดดันทางการเมืองภายในประเทศจีน จากการที่จีนกำลังจะมีการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิตส์เพื่อแต่งตั้งผู้นำรุ่นใหม่ และต้องการสร้างภาพที่เข้มแข็งในสายตาประชาชน รวมทั้งการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันของญี่ปุ่นไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากนักจนทำให้นายกรัฐมนตรี Yoshihiko Noda ต้องพยายามหาคะแนนเสียงจากกลุ่มชาตินิยม ล้วนแต่เป็นปัจจัยผลักดันต่อกรณีพิพาทเรื่องนี้

นักวิเคระห์ของสถาบัน Cato ยังเชื่อด้วยว่าประเด็นความขัดแย้งเรื่องการอ้างอธิปไตยเหนือกลุ่มเกาะเซ็นกากุหรือเตียวหยูในภาษาจีน รวมทั้งการอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะอื่นๆ ในทะเลจีนใต้ จะอยู่ในวาระหารือของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่นครวลาดิวอลสต๊อคของรัสเซียต้นเดือนกันยายน ซึ่งนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐจะไปร่วมประชุมโดยเป็นตัวแทนของประธานาธิบดีโอบาม่าด้วย