ในปีนี้ การลงทุนจากจีนที่ไหลเข้ามายังเวียดนามพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงที่ประเทศสมาชิกอาเซียนแห่งนี้เดินหน้ามีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลกในฐานะศูนย์กลางการผลิตหลักสำหรับทั้งจีนและสหรัฐฯ
ความสำคัญของเวียดนามในสายตาของสองประเทศมหาอำนาจนี้ดูชัดเจนขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอดีตประเทศคู่อริแห่งนี้หลังกรุงวอชิงตันพยายามดันตนเองให้ขึ้นมาเป็นมิตรที่มีอิทธิพลเท่าเทียมกันกับจีนสำหรับรัฐบาลกรุงฮานอย
ประเด็นนี้ยิ่งดูร้อนแรงขึ้นเมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีกำหนดเยือนเวียดนามในวันอังคารที่จะถึงนี้เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ครั้งแรกในรอบ 6 ปีของผู้นำจีน
SEE ALSO: ‘สี จิ้นผิง’ เตรียมเยือนเวียดนามสัปดาห์หน้า
ฮวง เล ทู รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียของ International Crisis Group ให้ความเห็นว่า ในมุมมองของจีนนั้น การเดินทางเยือนครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำว่า ตนจะไม่ยอมเสียเวียดนามให้กับคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ เป็นอันขาด ขณะที่ เวียดนามเองก็มองว่า ความเนื้อหอมของตนเป็นผลมาจาก bamboo diplomacy หรือ วิถีการทูตแบบไผ่ลู่ลม ที่ทำให้ตนสามารถสับรางรับมือกับมหาอำนาจทั้งสองโดยไม่ต้องถูกบีบให้ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
แต่แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่า การเดินทางมายังกรุงฮานอยของปธน.สีนั้นจะนำมาซึ่งการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองหรือไม่และอย่างไร สิ่งที่ดูชัดเจนในเวลานี้คือ จีนมีความได้เปรียบในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากมีการลงทุนจากจีนไหลเข้ามาเวียดนามอย่างมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะตึงเครียดระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งและการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อจีนซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจวิ่งออกมาหาที่ทำกินนอกประเทศมากขึ้น
หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การเยือนเวียดนามของปธน.สีในสัปดาห์หน้าจะมีวาระหารือเกี่ยวกับ “การยกระดับความสัมพันธ์จีน-เวียดนามให้สูงขึ้น” ด้วย ขณะที่ วาระอื่น ๆ มีตั้งแต่ประเด็นการเมืองไปจนถึง ความร่วมมือต่าง ๆ ความคิดของประชาชนและเรื่องที่เกี่ยวกับการเดินเรือด้วย
เปรียบเทียบการค้า-การลงทุน
เม็ดเงินลงทุนจากจีนและฮ่องกงที่เข้ามายังเวียดนามและมีการเก็บบันทึกอย่างเป็นทางการไว้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 8,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 2 เท่าและทำให้จีนกลายมาเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งของเวียดนามไปโดยปริยาย
ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น เงินลงทุนหดตัวลงมาเหลือเพียงราว 500 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ จากตัวเลข 700 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 และทำให้สหรัฐฯ กลายมาเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับที่ 10 ขณะที่ ภาวะการค้าระหว่างทั้งสองก็ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคอเมริกันต้องเผชิญวิกฤตค่าครองชีพ และไม่มีข่าวดีเรื่องการลดภาษีนำเข้าใด ๆ ในระหว่างการเยือนเวียดนามของปธน.ไบเดนเมื่อเกือบ 3 เดือนก่อน
ขณะเดียวกัน การส่งออกจากเวียดนามไปสหรัฐฯ ก็ร่วงลง 15% มาอยู่ที่ประมาณ 79,250 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ตามข้อมูลของทางการฮานอย แต่การส่งออกไปจีนกลับขยายตัว 5% มาที่เกือบ 50,000 ล้านดอลลาร์
ความสัมพันธ์จีน-เวียดนามที่ยังยุ่งยากซับซ้อน
แม้ทิศทางด้านการค้า-การลงทุนระหว่างจีนและเวียดนามจะดูดี ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยมีสาเหตุมาจากความตึงเครียดในกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้นั่นเอง
ขณะที่ ประชาชนชาวเวียดนามเองมีความรู้สึกต่อต้านจีนอยู่จนทำให้เกิดเหตุการประท้วงจีนอยู่เนือง ๆ รัฐบาลฮานอยเองก็มีความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของกรุงปักกิ่งที่แสดงท่าทีอุกอาจแน่วแน่ที่จะประกาศความเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะหลังจีนเผยแพร่แผนที่ทางการฉบับใหม่เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงเห็นว่า จีนมีอธิปไตยเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของเส้นทางเดินเรือที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่อย่างมั่งคั่ง
SEE ALSO: วิเคราะห์: ‘บาร์บี’ โหมไฟกรณีพิพาทเขตแดนทางทะเล เวียดนาม-จีน
หลายฝ่ายรับรู้ว่า ประเด็นข้อพิพาททางทะเลเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวพอควรสำหรับเวียดนาม หลังทางการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ “บาร์บี” เนื่องจากมีฉากที่แสดงให้เห็นแผนที่เหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ซึ่งคล้ายแผนที่โบราณของจีนที่ใช้เครื่องหมายเส้นจุดไข่ปลา ที่เรียกว่า “nine-dash line” อยู่
สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในการเยือนของปธน.สี
เหงียน คัก เกียง นักวิจัยด้านการเมืองบอกกับ เอเอฟพี ว่า การเยือนเวียดนามของปธน.สีนั้น เป็นโอกาสอันดีที่จีนจะดึงเวียดนามเข้าใกล้ตนมากขึ้นอยู่ดี ด้วยการใช้นโยบายด้านการต่างประเทศที่เรียกว่า Community of Common Destiny ของผู้นำจีนซึ่งเป็นชื่อกลาง ๆ ที่สื่อถึงวิสัยทัศน์ด้านความร่วมมือในอนาคตเกี่ยวกับกิจการด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและการเมือง
นักวิจัยรายนี้บอกด้วยว่า “ขณะที่ เวียดนามอาจรู้สึกว่าต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าร่วมแผนงานความคิดริเริ่มทางการเมืองใด ๆ ที่กรุงปักกิ่งนำเสนอ เรายังสามารถคาดหวังที่จะเห็นความก้าวหน้าด้านการร่วมมือทางเศรษฐกิจ(ระหว่างสองประเทศ) โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเปลี่ยนถ่ายมาใช้พลังงานสะอาด”
เมื่อเดือนที่แล้ว สื่อทางการเวียดนามเพิ่งรายงานว่า บริษัท China Rare Earth Group Co. กำลังหาโอกาสร่วมทำงานกับบริษัท Vinacomin ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเหมืองของเวียดนาม หลังกรุงวอชิงตันและกรุงฮานอยเพิ่งบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในการช่วยเวียดนามพัฒนาทรัพยากรสินแร่หายากไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
ขวากหนามของสหรัฐฯ ในเวียดนาม
แม้ว่า สหรัฐฯ จะสามารถยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตของตนกับเวียดนามขึ้นมาสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน” (comprehensive strategic partnership) ซึ่งเป็นระดับเดียวกันจีน ระหว่างการเยือนของปธน.ไบเดนเมื่อเดือนกันยายน แซคคารี อาบูซา ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก National War College ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า ธุรกิจต่างชาตินั้นยังคงต้องเผชิญความท้าทายสำคัญ ๆ หลายประการในการลงทุนในเวียดนามอยู่ดี ในช่วงที่ จีนคุมพื้นที่อยู่ไม่น้อย
ที่ปรึกษาธุรกิจหลายแห่งในเวียดนามเห็นด้วยว่า ขณะที่ นักลงทุนในสหรัฐฯ แสดงความสนใจที่จะมาทำธุรกิจในเวียดนามมากขึ้น การตัดสินใจทำการลงทุนใด ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน
SEE ALSO: สหรัฐฯ-จีน กับ ศึกสร้างพันธมิตรในเอเชียที่ร้อนแรงขึ้น
ไคล์ ฟรีแมน หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ Dezan Shira บอกกับรอยเตอร์ว่า จีนนั้นได้เปรียบสหรัฐฯ ในประเด็นนี้ เนื่องจากแผนการลดความเสี่ยงของนักธุรกิจจีนในช่วงเกิดความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรุงวอชิงตันและกรุงปักกิ่งที่ผลักดันเงินลงทุนให้ไหลมายังเวียดนามอย่างมากมาย ขณะที่ แชด โอเวล จากบริษัทจัดการลงทุน Mekong Capital ที่เน้นตลาดเวียดนามเป็นหลัก กล่าวเสริมว่า ภาพรวมทางเศรษฐกิจระยะสั้น-กลางของจีนมีสภาพย่ำแย่ทำให้ชาวจีนแห่กันไปหาโอกาสการลงทุนนอกประเทศมาสักระยะแล้ว
- ที่มา: เอเอฟพีและรอยเตอร์