ชาวจีนแห่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ... อเมริกาและออสเตรเลียได้รับความนิยมมากที่สุด

China US Real Estate

ปริมาณการลงทุนของจีนในอเมริกาในปีนี้คาดว่าจะสูงขึ้นเป็นสถิติใหม่

ชาวจีนแห่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนกำลังพยายามเสาะหาแหล่งลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาและออสเตรเลีย รวมทั้งในตลาดใหม่ๆ อย่างเช่น ดูไบ แม้รัฐบาลจีนกำลังคุมเข้มเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนนอกประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารกลางของจีนมีคำสั่งให้ควบคุมการถอนเงินทาง ATM จากธนาคารสาขาของจีนในประเทศตะวันตก

แต่ตัวเลขการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวจีนในต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว ยังสูงขึ้นถึง 30% แสดงให้เห็นว่าบรรดาเศรษฐีชาวจีนยังคงขนเงินออกนอกประเทศเป็นปริมาณเกินกว่าที่รัฐบาลจีนอนุญาตคือ 50,000 ดอลลาร์

นักวิเคราะห์เชื่อว่าสาเหตุที่ชาวจีนพากันซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้ในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการย้ายถิ่นฐานออกจากจีน หรือเพื่อส่งลูกไปเรียนในประเทศที่ตนมีบ้านไว้รองรับ

นั่นทำให้ประเทศทางตะวันตกหลายประเทศปรับนโยบายด้านวีซ่าเสียใหม่เพื่อรองรับชาวจีนที่ต้องการเข้ามาอาศัยอย่างถาวรผ่านการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่นในสเปน โปรตุเกส กรีซ และไซปรัส

FILE - New million-dollar homes are pictured under construction at sunset in southern Sydney, Aug. 14, 2014. More wealthy Chinese are moving their money out of China to invest in Australia's property market.

อเมริกากลายเป็นจุดหมายหลักของนักลงทุนจากจีน

ปริมาณการลงทุนของจีนในอเมริกาในปีนี้ คาดว่าจะสูงขึ้นเป็นสถิติใหม่ เนื่องจากมีบริษัทจีนหลายบริษัทกำลังพยายามหาลู่ทางควบรวมกิจการกับบริษัทสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะมีมูลค่าราว 20,000 - 30,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากระดับ 15,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว และ 12,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงสองปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ยังถือเป็นส่วนน้อย คือมีเพียง 1/8 เท่านั้นเมื่อเทียบการปริมาณการลงทุนของจีนในยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เยอรมนี และอังกฤษ

นักวิเคราะห์ระบุว่า การลงทุนของจีนในสหรัฐฯในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ภาคบริการ เช่น ธุรกิจบันเทิง การบริการสุขภาพ ตลอดจนการบริการด้านเทคโนโลยีและการเงิน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน จากมุ่งเน้นด้านการผลิตไปเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริการมากขึ้น ทำให้บริษัทจากจีนต้องการควบรวมกิจการกับบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีในประเทศตะวันตกมากกว่า