ภาวะเงินเฟ้อในจีนเริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายลงแล้ว จากปัจจัยหนุนหลายอย่าง อาทิ ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ชุดใหม่ และความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมการปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics – NBS) ของจีนว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (producer price index – PPI) ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.9% จากปีก่อนหน้า เทียบกับค่ามัธยฐาน 9.5% ที่รอยเตอร์สำรวจมา และเป็นการอ่อนตัวลงอย่างมากจากระดับ 10.3% เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว ทั้งยังเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของปีก่อนด้วย
ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าผู้บริโภค (consumer price index – CPI) ของจีนเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนที่แล้ว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบการสำรวจของรอยเตอร์คาดว่า ดัชนีเงินเฟ้อจีนน่าจะเพิ่มขึ้น 1% หลังจากปรับขึ้น 1.5% เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ แม้ดัชนี้ PPI ของจีนจะยังอยู่ในขาขึ้น เพราะปัญหาด้านอุปทานทั้งในประเทศและนอกประเทศ อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคของจีนยังถือว่าค่อนข้างอ่อนและเป็นภาพขัดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มอ่อนตัวลงของจีนจะเปิดทางให้ธนาคารกลาง (People’s Bank of China – PBOC) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อหนุนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ ทั้งหลายยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบคุมเข้มอยู่ต่อไป
ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตของจีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ ยังคงมีปัญหาที่ต้องรับมืออยู่ จากประเด็นต้นทุนการผลิตที่พุ่งขึ้นเนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ปรับขึ้นนั่นเอง
- ที่มา: รอยเตอร์