จีนเริ่มกระแสแบน H&M, Nike และ Adidas กรณีวิจารณ์ประเด็นสิทธิ์ในซินเจียง

CHINA-XINJIANG-MARCAS

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


แบรนด์แฟชั่นตะวันตก H&M รวมทั้ง Nike และ Adidas กลายมาเป็นเป้าโจมตีในจีน จากกรณีออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้แรงงานในมณฑลซินเจียง จนเริ่มมีผู้ก่อกระแสไม่ใช้สินค้าของแบรนด์เหล่านี้แล้ว

China Xinjiang Foreign Brands

สำนักข่าว รอยเตอร์ส รายงานว่า แบรนด์สินค้ากีฬาทั้ง Nike และ Adidas คือ เป้าหมายล่าสุดที่จีนเลือกมุ่งโจมตีผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในวันพฤหัสบดี เพื่อต้านกระแสสินค้าต่างประเทศที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งมองว่า ทำให้ชื่อเสียงจีนเสียหาย จากการที่ออกแถลงการณ์ออกมาวิจารณ์ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับบังคับใช้แรงงานในเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ China Central Television ของรัฐบาลจีนเพิ่งประกาศเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรสินค้าแบรนด์ H&M จากสวีเดน เนื่องจากพบว่าเคยออกแถลงการณ์เมื่อปีที่แล้ว แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานการบังคับใช้แรงงานในจีน และประกาศว่า บริษัทจะเลิกสั่งซื้อฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ของตนจากภูมิภาคดังกล่าว

สำนักข่าว The Associated Press รายงานว่า สถานีโทรทัศน์ดังกล่าว ระบุในข้อความที่ส่งผ่านบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของตนว่า ชื่อ H&M นั้น เป็นคำย่อของคำว่า “คำพูดโกหก” และ “ความเท็จ” ในภาษาจีนด้วย

ในส่วนของ Nike และ Adidas ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่า ตนไม่ได้จัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบใดๆ จากมณฑลซินเจียงอยู่แล้ว

รายงานข่าวระบุว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนเริ่มประกาศว่าจะหยุดซื้อสินค้าของ Nike และจะหันมาสนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่น เช่น หลี่หนิง (Li Ning) และ แอนท่า (Anta) แทน ขณะที่บางรายออกมาไล่ให้ Adidas ออกจากจีนไป

รอยเตอร์ส รายงานว่า การตรวจสอบในเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาในจีนพบว่า ชื่อ H&M ได้หายไปจากรายชื่อในร้านค้าจีนบางแห่ง และการค้นหาร้าน H&M ผ่านแอปพลิเคชั่น Baidu Maps กลับไม่พบข้อมูลใดๆ แล้ว ขณะที่ เพจของร้าน H&M ในเว็บอีคอมเมิร์ซ Tmall ของ Alibaba ก็มีปัญหาเข้าไม่ได้เช่นกัน

และในระหว่างการแถลงข่าวประจำวันที่กระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีของ H&M ขึ้นมา หัว ชุนยิง โฆษกกระทรวง ยกภาพชาวอเมริกันผิวสีขณะเก็บดอกฝ้ายขึ้นมา พร้อมกล่าวว่า “นี่คือสหรัฐฯ ที่ทาสผิวสีถูกบังคับให้เก็บดอกฝ้ายในทุ่ง” ก่อนจะแสดงภาพทุ่งฝ้ายในซินเจียงขึ้นมา และกล่าวว่า “การเก็บฝ้ายในซินเจียงนั้น กว่า 40 เปอร์เซ็นต์เป็นการเก็บโดยใช้เครื่องจักร ดังนั้น ข้อกล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานนั้นไม่ได้มีจริงเลย”

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทางการจีนออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รัฐทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมอุยกูร์ หลังจาก สหภาพยุโรป สหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดา ประกาศดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเจ้าหน้าที่รัฐจีนจำนวนหนึ่ง โดยจีนยังตอบโต้ด้วยการสั่งใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อสมาชิกรัฐสภา นักวิชาการ และสถาบันหลายแห่งในยุโรปด้วย

The Associated Press ระบุว่า มีประชาชนกว่า 1 ล้านคนในซินเจียง ที่ถูกบังคับให้ทำงานในค่ายงาน ตามข้อมูลของนักวิจัยและรัฐบาลต่างชาติ แต่รัฐบาลกรุงปักกิ่งปฏิเสธว่ามีการดูแลแรงงานอย่างไม่เหมาะสม เพราะย้ำว่า ทางการกำลังพยายามส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาลัทธิหัวรุนแรงอยู่

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทชาติตะวันตกหลายแห่ง ต้องพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการขยายตลาดเข้าไปในจีน และการไม่ทำให้ผู้บริโภคในประเทศตนเองรู้สึกไม่พอใจ เนื่องจากรายงานต่างๆ ที่มีออกมาจากจีนให้ได้