ผู้นำจีนและกลุ่มประเทศยุโรปเข้าร่วมประชุมออนไลน์เพื่อถกประเด็นการค้าและเศรษฐกิจ โดยไม่ได้หยิบยกเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนขึ้นมาพูดคุยในครั้งนี้
ในระหว่างการประชุมที่จัดขึ้นในวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้นำจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู ทั้ง 27 ประเทศเข้าร่วมพูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน แทนที่จะเป็นการประชุมด้วยตัวเองที่เมือง ไลพ์ซิก (Leipzig) ประเทศเยอรมนีตามแผนเดิม เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
ภายหลังการประชุม ประธานสภาสหภาพยุโรป ชาร์ลส มิเชล บอกกับผู้สื่อข่าวว่า อียู ยังคงย้ำความต้องการให้จีนเปิดตลาดของตนให้กับผู้ส่งออกจากยุโรป และยุโรปต้องการจะเป็นหนึ่งในผู้เล่นในเวทีการค้า ไม่ใช่เป็นเพียงตลาดเท่านั้น พร้อมย้ำว่า การประชุมที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณการก้าวต่อไปข้างหน้า เพื่อการสร้างความสัมพันธ์กับจีนที่มีสมดุลมากขึ้น
ขณะเดียวกัน เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เสริมว่า อียู คาดหวังให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งกำจัดมาตรการกีดกันการเข้าตลาดจีนด้วย
สตีฟ จาง ผู้อำนวยการสถาบัน SOAS China Institute จากมหาวิทยาลัยลอนดอน บอกกับ วีโอเอ ว่า อียูรู้สึกไม่พอใจที่ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มประเทศสมาชิกไม่สามารถเข้าถึงตลาดจีนและแข่งกับผู้ผลิตที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งหนุนหลังได้ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองอยู่ในสภาวะที่ไม่ยุติธรรม แต่ไม่ได้พยายามจะรุกหนักจนกลายมาเป็นสงครามทางการค้าแต่อย่างใด
แต่ จาง กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีหลายสิ่งหลายอย่างในด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในยุโรปเปลี่ยนไปพอควร เพราะหลายประเทศเริ่มมองว่า จีนไม่ใช่คู่ค้าที่น่าไว้วางใจมาก โดยเฉพาะในเรื่องของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทั้งหลาย ซึ่งอาจจะทำให้การดำเนินความสัมพันธ์ต่อจากนี้ต่างออกไปได้
ทั้งนี้ ประเด็นการค้าทำให้เรื่องรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนกลายเป็นประเด็นรองไปโดยปริยาย แม้อียูจะได้ร้องขอให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งยุติการปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง หลังประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่เมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของจีนเกี่ยวกับชนชาวมุสลิมอุยกูร์ ในมณฑลซินเจียง ซึ่งกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีผู้คนหลายล้านคนถูกจับกุมและคุมขัง รวมทั้งมีกรณีการบังคับใช้แรงงานและบังคับทำหมัน ที่จีนปฏิเสธมาโดยตลอดก็ตาม
อย่างไรก็ นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี กล่าวว่า ยุโรปจะเดินหน้าหยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชนมาคุยกับจีนต่อไป
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับรายการวิทยุ France Inter ในวันอังคารว่า สหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในจีนมาโดยตลอด และยุโรปควรจะยกระดับจุดยืนในเรื่องนี้ให้จีนตระหนักมากขึ้นด้วย
นักวิเคราะห์มองว่า ในช่วงที่จีนกับสหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากันอยู่นี้ รัฐบาลกรุงปักกิ่งน่าจะไม่ต้องการมีข้อขัดแย้งกับอียูอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออียูมีฐานะเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของตน