นักวิชาการชี้เหตุผลสำคัญอันหนึ่งในการต่อต้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงคือการขาดความโปร่งใส โดยเฉพาะข้อมูลทางด้านอุทกวิทยา

Your browser doesn’t support HTML5

เสียงวิจารณ์ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ต่อโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีน

จีนมีเขื่อนกั้นน้ำ รวมทั้งเขื่อนที่ใช้พลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่าประเทศใดในโลก แต่เมื่อเกือบสามปีก่อน แผนของจีนและพม่าที่จะสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำอิรวดีถูกประท้วงอย่างหนักจนต้องระงับไป นักวิชาการในสหรัฐให้ความเห็นว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการขาดความโปร่งใส

นอกจากจะมีเขื่อนกั้นน้ำมากกว่าใครเพื่อนแล้ว การสร้างเขื่อนยังเป็นธุรกิจส่งออกชั้นนำของจีนด้วย ตัวเลขจากกลุ่ม International Rivers ระบุว่า ธนาคารและบริษัทจีนได้สร้างเขื่อนนับร้อยๆ แห่งให้กับหลายสิบประเทศ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Richard Cronin ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่โขงบอกว่า บริษัทจีนกำลังก่อสร้างเขื่อน 4 หรือ 5 แห่งในจำนวนทั้งหมด 11 เขื่อนที่กำลังมีการก่อสร้างกันอยู่ในแม่น้ำโขง จีนมีบทบาทมากในการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศลาวและกัมพูชา และโดยเฉพาะในเรื่องการสร้างเขื่อน

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ใช้ในการสร้างเขื่อนถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นทุกทีว่า ไม่ให้ความสนใจกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะเขื่อนที่จีนมีแผนจะสร้างขึ้นในแม่น้ำโขง

รองศาสตราจารย์ Darrin Magee ซึ่งสอนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่วิทยาลัย Hobart and William Smith ในสหรัฐ ให้ความเห็นว่าปัญหาสำคัญอันหนึ่งคือการขาดข้อมูลที่ชัดเจน

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมผู้นี้กล่าวว่า จะต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า เขื่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อผู้ที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำ รวมทั้งกระแสน้ำ และตะกอนที่จะไหลลงไป

Richard Cronin ของ Stimson Center บอกว่า จีนให้ความโปร่งใสในด้านอุทกวิทยาไม่ได้ เพราะถือว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับของทางการ นอกจากนี้ การทำงานระหว่างกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ของจีนยังขาดการประสานงานอีกด้วย ซึ่งหมายความว่า โครงการสร้างเขื่อนแต่ละโครงการเป็นเอกเทศจากกันและกัน

เขื่อนที่จีนสร้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโด่งดังอื้อฉาวมากที่สุด คือ เขื่อน Myitsone ในแม่น้ำอิรวดีในพม่า เขื่อนมูลค่า 3.6 พันล้านดอลล่าร์นี้เป็นการลงทุนร่วมระหว่าง บริษัท China Power and Investment กระทรวงพลังงานไฟฟ้าของพม่า และบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังการประท้วงภายในประเทศ ประธานาธิบดีเต็งเส่งของพม่าสั่งระงับโครงการดังกล่าว

นักวิจัย Sun Yun ของ Stimson Center บอกว่า โครงการเขื่อน Myitsone เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการแสดงให้เห็นการกำหนดนโยบายของจีนโดยผู้มีผลประโยชน์ต่างๆ กัน

นักวิจัยผู้นี้บอกว่า รัฐบาลกลางของจีน ซึ่งหมายถึงปักกิ่ง การปกครองท้องถิ่น คือจังหวัด Yunnan และบริษัทธุรกิจ ซึ่งในกรณีนี้คือ บริษัท China Power and Investment จัดลำดับสิ่งสำคัญต่างกัน

Sun Yun นักวิจัยของ Stimson Center บอกว่า ปักกิ่งอยากรักษาความสัมพันธ์อันดีกับพม่า ในขณะที่ผู้ปกครองจังหวัด Yunnan ต้องการใช้โครงการนี้เป็นเครื่องมือทำให้ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกลายมาเป็นศูนย์กลางของพลังงาน ส่วนเป้าหมายของบริษัท China Power and Investment คือผลกำไร