Your browser doesn’t support HTML5
กลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมการกลาง หรือ Central Committee แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้หารือกันถึงการเพิ่มเติมแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ
ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ที่จีนแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือเมื่อ 14 ปีก่อน
นักวิเคราะห์คาดว่า ผลจากการประชุมในเดือนมกราคมปีนี้ที่จบไปน่าจะไม่ต่างจากเมื่อครั้งก่อน คือน่าจะนำไปสู่เรื่องการปรับเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นด้าน ‘อุดมคติทางการเมืองของผู้นำจีน’
เป็นที่คาดหมายว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จินผิง น่าจะมีการเน้นย้ำถึงการปราบปรามคอร์รัปชั่น และกฎเกณฑ์การบริหารพรรคที่เคร่งครัด และมีความเป็นไปได้ว่าจีนจะตั้งหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นเพิ่มซึ่งมีอำนาจมากขึ้น ภายใต้ชื่อ National Supervision Commission หรือคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการแห่งชาติ
ข้อเสนอต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาครั้งนี้จะต้องผ่านการกลั่นกรอง และรอการอนุมัติครั้งสุดท้ายต้นเดือนมีนาคม
นักวิเคราะห์ Willy Lam ในฮ่องกง กล่าวว่า องค์การปราบปรามคอร์รัปชั่นแห่งใหม่นี้ จะมีอำนาจรับผิดชอบทั่วประเทศและการตั้งหน่วยงานนี้น่าจะถูกระบุในรัฐธรรมนูญด้วย
นักวิชาการจีน เช่น นาย Chen Guangzhong กังวลว่าหน่วยงาน National Supervision Commission จะขาดระบบถ่วงดุล เขาเรียกร้องว่าหากมีการตั้งหน่วยงานนี้จริง จะเป็นการดีถ้าองค์กรดังกล่าวแสดงคำมั่นว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน
ในช่วงการบริหารประเทศของประธานาธิบดี สี จินผิง มาตรการปราบปรามคอร์รัปชั่นของเขาทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ 1 ล้าน 5 แสนคนถูกสอบสวน
นักวิเคราะห์ประเมินว่า รัฐจะใช้อำนาจผ่านคณะกรรมการ National Supervision Commission ในการขยายการปราบปรามคอร์รัปชั่นในทุกระดับ ซึ่งรวมถึงงานตรวจสอบรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้ในส่วนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้อยคำที่ว่า “แนวความคิดของ สี จินผิง เรื่องสังคมนิยมและความเป็นจีนยุคใหม่” ก็น่าจะปรากฏในกฎหมายสูงสุดด้วย หลังจากที่ข้อความนี้ได้รับการอนุมัติให้ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนหน้านี้
การบัญญัติถ้อยความดังกล่าวในเอกสารระดับชาติ แม้จะเป็นเพียงสัญลักษณ์การยอมรับ แต่ถือว่าเป็นการยอมรับความสำคัญของประธานาธิบดี สี จินผิง ให้เทียบเท่ากับอดีตผู้นำที่พลิกประวัติศาสตร์จีนสองคน คือ เติ้ง เสี่ยวผิง และเหมา เจ๋อ ตุง
และหากชื่อของ สี จินผิง ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ เขาจะเป็นบุคคลรายที่สองในประวิศาสตร์จีน ต่อจากประธานาธิบดีเหมา เจ๋อ ตุง ที่ได้รับการเกียรติเช่นนี้
อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างสูงยิ่ง คือ มาตรา 79 ซึ่งกำหนดว่าประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ยาวนานกว่าสองสมัยหรือ 10 ปี
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ประธานาธิบดีสี อาจแก้มาตรา 79 เพื่อให้ตนอยู่ในตำแหน่งได้ต่อ หลังจากการครองตำแหน่งสมัยที่สองสิ้นสุดลงอีก 5 ปีจากนี้
แต่อาจารย์ David Zweig จากมหาวิทยาลัย Hong Kong University of Science and Technology กล่าวว่า ประธานาธิบดีสี อาจจะยังไม่มีอำนาจบารมีเพียงพอที่จะแก้มาตราดังกล่าวได้สำเร็จ
เขากล่าวว่า ประธานาธิบดีสีอาจจะต้องพิสูจน์ตนเองต่อผู้นำพรรคคนอื่นๆ เสียก่อน ว่าจะสามารถแสดงผลงานในด้านต่างๆ เพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนเพียงพอที่จะขอแก้มาตรา 79
กระบวนการดังกล่าวจะต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกลางของพรรคเสียก่อน จากนั้นต้องได้รับการลงคะแนนสองในสามจากสภาแห่งชาติจีน จึงมีผลใช้บังคับ
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Bill Ide และ Joyce Huang จากปักกิ่ง)