Your browser doesn’t support HTML5
นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ เชื่อว่า จีนจะเพิ่มแรงกดดันและการตอบโต้ต่อแคนาดาต่อไป หลังจากทางการแคนาดาจับกุมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโทรคมนาคมจีน Huawei เมื่อเดือนที่แล้ว
เมื่อวันจันทร์ ศาลในประเทศจีนตัดสินประหารชีวิตชายชาวแคนาดาผู้หนึ่ง คือนายโรเบิร์ต ลอยด์ สเคลเลนเบิร์ก (Robert Lloyd Schellenberg) ในข้อหาลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาในจีน หลังจากที่คำตัดสินจำคุก 15 ปีก่อนหน้านี้ ถูกมองว่าเบาเกินไป
คำตัดสินครั้งล่าสุดนี้ยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนและแคนาดา หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่จีนได้จับกุมชาวแคนาดาสองคน คือนายไมเคิล คอฟริก (Michael Kovrig) อดีตนักการทูตและที่ปรึกษาของบริษัทวิจัยข้อมูล International Crisis Group (ICG) และนายไมเคิล สเปเวอร์ (Michael Spavor) นักธุรกิจชาวแคนาดา โดยจีนระบุว่าชายทั้งสองคนตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าคุกคามความมั่นคงของจีน
SEE ALSO: 'จีน-แคนาดา' ตึงเครียด! หลังจีนตัดสินประหารชีวิตชายแคนาดาข้อหาค้ายาเสพติดความตึงเครียดระหว่างจีนและแคนาดาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ตำรวจแคนาดาจับกุม เมิ่ง ว่านโจว (Meng Wanzhou) ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการเงินบริษัทหัวเหว่ย (Huawei Technologies) ของจีน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ตามคำขอของรัฐบาลอเมริกัน ในข้อหาละเมิดมาตรการลงโทษอิหร่าน สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลอเมริกันกล่าวหาว่า เธอปกปิดความเชื่อมโยงของหัวเหว่ย กับบริษัทฮ่องกงที่ชื่อ Skycom ที่ขายอุปกรณ์เทคโนโลยีอเมริกันให้กับอิหร่าน ซึ่งถือว่าเป็นความผิดเพราะสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษอิหร่านอยู่ในขณะนี้
วิลลี แลม (Willy Lam) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีน จาก Chinese University of Hong Kong ชี้ว่า จีนจะไม่หยุดตอบโต้แคนาดา เนื่องจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และรัฐบาลกรุงปักกิ่ง รู้สึกว่าเสียหน้าจากกรณีการจับกุมผู้บริหารของหัวเหว่ยดังกล่าว
การตอบโต้ของจีนครั้งนี้ คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีน ที่บางครั้งลุกลามจนถึงขั้นยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศนั้น หรือส่งผลกระทบต่อพลเมืองของประเทศนั้นๆ ที่อาศัยอยู่ในจีน รวมทั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของจีนบนเวทีโลกด้วย
ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่จีนระงับการทำข้อตกลงการค้าและจำกัดการนำเข้าปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ หลังจากที่มีการประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 2010 ให้กับนายหลิว เสี่ยวโป (Liu Xiaobo) นักโทษการเมืองชาวจีน และการจับกุมคู่สามีภรรยาชาวแคนาดาในประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ. 2014 ในข้อหาจารกรรม หลังจากที่แคนาดาเพิ่งจับกุมชายผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าขโมยความลับด้านการบินของสหรัฐฯ ให้กับจีน
นั่นทำให้บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า การจับกุมชาวแคนาดาสองรายครั้งล่าสุดนี้ เป็นการตอบโต้ของจีนที่มีต่อทางการแคนาดาอีกเช่นกัน
เดวิด ซวีก (David Zweig) ผอ.ศูนย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของ Hong Kong University of Science and Technology เชื่อว่า การตอบโต้ครั้งล่าสุดของจีนจะยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือของจีนในการขยายอำนาจอิทธิพลไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอำนาจแบบอ่อน หรือ Soft Power และความพยายามแสดงให้โลกเห็นว่า จีนเล่นตามกติกา
นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า ในที่สุดแล้วจีนจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการตอบโต้แคนาดาครั้งนี้
ด้าน สตีฟ จาง (Steve Tsang) แห่ง London’s School of Oriental and African Studies ระบุว่า เมิ่ง ว่านโจว ลูกสาวของผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเหว่ย ซึ่งถูกทางการแคนาดาจับกุมนั้น มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนายทหารในกองทัพจีน และมีสถานะเสมือนสมบัติแห่งชาติของจีน ดังนั้นจีนจะไม่หยุดกดดันแคนาดาให้ปล่อยตัวเธอออกมา แต่ตนไม่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อแคนาดาในการจัดการคดีนี้แต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน จากการสำรวจความเห็นของชาวจีนเกี่ยวกับกรณีนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่าจีนและบริษัทหัวเหว่ยกำลังถูกรังแกทางการเมือง และเชื่อว่ารัฐบาลจีนทำถูกต้องแล้วที่พยายามแสดงจุดยืนต่อต้านแคนาดาในลักษณะตาต่อตา ฟันต่อฟัน
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก AP)