จีน เรียกทฤษฎี ‘โควิดรั่วไหลจากห้องแลบ’ เป็นเรื่องโกหกพกลม

FILE: Marion Koopmans, (R) and Peter Ben Embarek, (C), of the World Health Organization team say farewell to their Chinese counterpart Liang Wannian, (L), after a WHO-China Joint Study Press Conference at the end of the WHO mission in Wuhan, China, Feb 9,

รัฐบาลจีนออกมาโต้รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เรียกร้องให้มีการเดินหน้าสอบสวนที่มาของโควิด-19 โดยชี้ว่า ทฤษฎีที่ว่า ภาวะระบาดใหญ่เป็นวงกว้างของโคโรนาไวรัสนั้นน่าจะมีจุดเริ่มที่การรั่วไหลของไวรัสมาจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่งจีน เป็นเรื่องโกหกที่มีมูลเหตุมาจากเรื่องการเมือง ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

ท่าทีล่าสุดของจีนเกี่ยวกับกรณีที่มาของวิกฤตสาธารณสุขโลกครั้งนี้มีออกมาในวันศุกร์ หลัง WHO ให้ความเห็นยืนยันอย่างแข็งขันว่า ควรมีการสืบสวนให้ลึกลงไปอีกเพื่อพิสูจน์ว่า อุบัติเหตุในห้องทดลองแห่งหนึ่งในจีนคือสาเหตุของการระบาดครั้งนี้

นอกจากนั้น จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง ยังปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่า จีนไม่ได้ให้ความร่วมมือกับทีมสืบสวนของ WHO พร้อมกล่าวว่า จีนยินดีร่วมมือกับการสอบสวนที่ดำเนินการตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่ปฏิเสธที่จะตกเป็นเบี้ยของการเล่นเกมการเมืองใด ๆ

โฆษกฯ จ้าว ยังยืนยันคำเรียกร้องของจีนให้มีการสอบสวน “ห้องแลบที่น่าสงสัยยิ่ง เช่น (ห้องทดลองที่) ฟอร์ต เดทริก และมหาวิทยาลัยแห่งนอร์ทแคโรไลนา” ในสหรัฐฯ ซึ่งจีนกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่า เป็นสถานที่ที่สหรัฐฯ ทำการพัฒนาโคโรนาไวรัสให้เป็นอาวุธชีวภาพ

FILE - Chinese Foreign Ministry spokesman Zhao Lijian gestures as he speaks during a daily briefing at his ministry in Beijing, Feb. 24, 2020.

จ้าว ลี่เจียน ระบุระหว่างการแถลงข่าวประจำวันว่า “ทฤษฎีการรั่วไหลออกมาจากห้องแลบ คือ เรื่องโกหกพกลมที่ปั้นแต่งขึ้นมาโดยกลุ่มต่อต้านจีน เพื่อจุดประสงค์ทางการเอง โดยไม่ได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด”

นอกจากนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังกล่าวว่า จีนนั้น “ให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการใช้วิทยาศาสตร์ติดตามไวรัสไปทั่วโลก แต่เรา(จีน)ต่อต้านอย่างสุดกำลังต่อการบิดเบือนใด ๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง” พร้อมกล่าวย้ำว่า การมีส่วนร่วมของจีนอย่างมากในการติดตามไวรัส และการแบ่งปันข้อมูลและผลการวิจัยทั้งหลัง “สะท้อนให้เห็นภาพการเปิดเผย ความโปร่งใส และทัศนคติต่อการมีส่วนรับผิดชอบของจีนอย่างเต็มที่ รวมทั้ง การสนับสนุนการดำเนินงานของ WHO และคณะที่ปรึกษาด้วย”

ทั้งนี้ รายงานที่ WHO เปิดเผยออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี แสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับการประเมินขององค์กรนี้ในช่วงต้นของการระบาดอันเกี่ยวกับจุดกำเนิดของไวรัสนี้ และมีออกมาหลังหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์องค์การอนามัยโลกว่า ปัดตกหรือทำการลดความสำคัญของทฤษฎีว่าด้วยการรั่วไหลของไวรัสออกมาจากห้องแลบเร็วเกินไป

หลังจากทีมงานของ WHO เดินทางเข้าตรวจสอบสถานการณ์ในจีนที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งควบคุมอย่างใกล้ชิดสิ้นสุดลงเมื่อปีที่แล้ว องค์การแห่งนี้เปิดเผยข้อสรุปว่า “เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้อย่างมากที่สุด” ที่โคโรนาไวรัสนั้นแพร่กระจายจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์มาสู่มนุษย์ ในเมืองอู่ฮั่น โดยนักวิทยาศาสตร์หลายรายสงสัยว่า ไวรัสดังกล่าวอาจมีจุดกำเนิดมาจากค้างคาวก่อนจะแพร่มาสู่คน ผ่านสัตว์ประเภทอื่น

Members of the World Health Organization (WHO) team, tasked with investigating the origins of the coronavirus disease (COVID-19), don personal protection suits during a visit at the Hubei Animal Epidemic Disease Prevention and Control Center in Wuhan, Hub

อย่างไรก็ดี ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO ระบุว่า ทีมงานยังคงไม่สามารถหา “ข้อมูลชิ้นสำคัญ” ในการอธิบายว่า การระบาดเป็นวงกว้างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรอยู่ และว่า ทีมงานจะยังคง “เปิดกว้างยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่อาจปรากฏขึ้นในอนาคต เพื่อให้มีการทดสอบสมมติฐานทั้งหลายที่สมเหตุสมผลได้อย่างครอบคลุม”

โดยปกติ การบ่งชี้ที่มาของโรคที่เกิดจากสัตว์ใด ๆ นั้นมักใช้เวลาหลายปีถึงจะได้ข้อสรุป โดยนักวิทยาศาสตร์ใช้เวลากว่า 1 ทศวรรษกว่าจะสรุปได้ว่า ค้างคาวชนิดใดเป็นแหล่งเพาะเชื้อซาร์ส (SARS) ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กรณีการรั่วไหลของเชื้อจากห้องแลบนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและกลายมาเป็นต้นตอของภาวะระบาดใหญ่เป็นวงกว้างมาแล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรด่วนตัดความน่าของประเด็นนี้ออกจากการสืบสวน โดยเฉพาะเมื่อ จีนยังไม่ได้นำเสนอผลการศึกษาใด ๆ ให้กับ WHO ประเมินเกี่ยวกับความน่าจะเป็นของกรณีการหลุดรอดของโคโรนาไวรัสออกมาจากห้องทดลองเลย

นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มา มีผู้คนเสียชีวิตลงไปแล้วกว่า 6.3 ล้านคนทั่วโลก และหลายประเทศตัดสินใจดำเนินมาตรการล็อกดาวน์จนทำให้สภาพเศรษฐกิจโลกพลิกคว่ำไม่เป็นท่าไปแล้ว

ทีมสืบสวนของสำนักข่าวเอพี พบว่า ผู้บริหารระดับสูงบางรายของ WHO รู้สึกไม่พอใจจีนในช่วงที่เกิดการระบาดใหม่ ๆ แม้ว่า ในเวลานั้น ทางองค์การจะกล่าวชื่นชมประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อย่างมากมายก็ตาม และยิ่งไม่พอใจขึ้นไปอีก เมื่อจีนพยายามหยุดยั้งการค้นคว้าวิจัยหาต้นตอของโควิด-19

  • ที่มา: เอพี