Your browser doesn’t support HTML5
สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ในประเทศจีนเริ่มทำการเบลอภาพสัญลักษณ์และโลโก้ของผลิตภัณฑ์จากชาติตะวันตกที่เคยวิจารณ์เกี่ยวกับรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน หลังจากเกิดกระแสต้านธุรกิจต่างชาติที่รัฐบาลจีนมองว่า เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของตน
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า การที่สถานีโทรทัศน์ต่างๆ เข้าร่วมการแสดงความไม่พอใจต่อธุรกิจต่างชาติครั้งนี้ ทำให้การถ่ายทอดรายการบางรายการต้องล่าช้ากว่าปกติ เพราะทีมงานฝ่ายผลิตต้องใช้เวลาตัดต่อเพื่อเซนเซอร์ทุกอย่างที่เป็นชื่อและสัญลักษณ์ของสินค้าที่เกี่ยวข้องทุกชิ้น ซึ่งรวมถึง เสื้อยืดและรองเท้า ของผู้ที่ปรากฏในรายการด้วย
บีบีซี รายงานด้วยว่า มาตรการดังกล่าวถูกนำไปใช้กับรายการทุกประเภทที่ออกอากาศในจีน แต่ดูเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น หลังบริษัทผู้ผลิตรายการเรียลลิตี้ชื่อดัง Youth With You ซึ่งมีผู้ร่วมรายการจำนวนมาก ประกาศเมื่อวันที่ 25 มีนาคมว่า ขอเลื่อนการออกอากาศตอนล่าสุดของรายการโดยไม่ให้เหตุผลใดๆ ก่อนที่ จะนำออกฉายในเวลาต่อมา และผู้ชมต่างต้องแปลกใจกับการที่โลโก้ ต่างๆ บนเสื้อผ้าของผู้ร่วมรายการกว่า 50 คน ที่ ถูกเบลอจนหมดสิ้น
สำนักข่าว บิสซิเนส อินไซเดอร์ รายงานว่า ความพยายามดังกล่าวไม่ได้ประสบความสำเร็จเสียทีเดียว เพราะในบางช่วง ยังมีผู้ร่วมรายการบางคนที่ไม่ถูกเบลอ ทำให้สามารถเห็นยี่ห้อและโลโก้บนเสื้อผ้าได้อยู่
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลายมาเป็นกระแสเรื่องตลกในสื่อสังคมออนไลน์จีนทันที และผู้ใช้งานจำนวนมากสารภาพว่า ตนรู้สึกแย่แทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตรายการทั้งหลายที่ต้องทำงานหนักกว่าปกติเพราะเรื่องนี้
กระแสต่อต้านสินค้าต่างประเทศในจีนนั้น เริ่มต้นขึ้นจากการที่สหรัฐฯ และรัฐบาลชาติตะวันตกทั้งหลายพยายามกดดันให้จีนจัดการกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายสำคัญของประเทศ และเมื่อเดือนที่แล้ว สื่อรัฐของจีนเริ่มแคมเปญ “ฝ้ายซินเจียง” เพื่อตอบโต้แบรนด์ต่างชาติที่ออกมาร่วมวิจารณ์จีน โดยมีการพุ่งเป้าไปที่บางแบรนด์สินค้าโดยเฉพาะเจาะจง เช่น H&M และผลิตภัณฑ์กีฬาชื่อดัง อย่าง Adidas และ Nike รวมทั้ง Puma ก่อนที่จะมีรายงานว่า ร้านค้าออนไลน์ของบริษัทเหล่านี้ถูกจีนปิดกั้นหรือถอดจากระบบไป
ทั้งนี้ มณฑลซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และถูกทางการจีนกดขี่ข่มเหงมานานแล้ว โดยมีรายงานว่า ชาวอุยกูร์กว่า 1 ล้านคนถูกคุมขังในเรือนจำหลายร้อยแห่งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ด้วย