วิเคราะห์ความสำเร็จของจีนกับธนาคาร AIIB และความท้าทายที่รออยู่

Chinese President Xi Jinping, center, shows the way to the guests who attended the signing ceremony of the Asian Infrastructure Investment Bank at the Great Hall of the People in Beijing, Oct. 24, 2014.

จีนสามารถระดมสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งใหม่ AIIB ได้ถึง 57 ประเทศในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน

จีนสามารถระดมสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียหรือ AIIB ได้ถึง 57 ประเทศในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน ยกเว้นแต่สหรัฐฯและญี่ปุ่นที่ปฏิเสธไม่เข้าร่วม เพราะยังกังวลต่อความโปร่งใสและความสามารถของธนาคาร AIIB ในการรักษามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน

ปัจจุบันเอเชียมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าปีละ 800,000 ล้านดอลล่าร์ โดย AIIB จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ ทางด่วน หรือโครงการด้านพลังงาน

ความท้าทายสำคัญของจีนนอกจากเรื่องการจัดหาเงินทุนให้กับโครงการเหล่านั้นแล้ว ยังรวมถึงการแบ่งปันภาระหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับสมาชิกทั้ง 57 ประเทศอย่างเท่าเทียม เพราะทุกประเทศต่างต้องการมีส่วนร่วมในธนาคารแห่งใหม่นี้ให้เหมาะสมกับเงินที่ลงทุนไป

Your browser doesn’t support HTML5

China Bank

ศาสตราจารย์ Barry Naughton ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จาก University of California at San Diego เชื่อว่าจีนเองก็ต้องการรักษาสัดส่วนของจีนในธนาคารแห่งใหม่ ในระดับที่สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายต่างๆได้ คืออย่างน้อยประมาณ 25 - 30%

ก่อนหน้านี้จีนยืนยันว่าจะไม่มีประเทศใดมีอำนาจวีโต้ในธนาคารแห่งใหม่ และว่าผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกในเอเชียต้องมาก่อน เพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการต่างๆที่ธนาคารเป็นผู้ให้เงินทุน โดยสื่อของทางการจีนระบุว่าประเทศในเอเชียถือสัดส่วนเงินลงทุนเริ่มต้นมูลค่า 100,000 ล้านดอลล่าร์ถึง 75%

Jin Liqun, Secretary-General, Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB)

ด้านนาย Jin Liqun เลขาธิการใหญ่ธนาคาร AIIB กล่าวว่าการที่จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดใน AIIB มิได้หมายความว่าจีนมีอำนาจพิเศษเหนือสมาชิกรายอื่น แต่จีนจะปฏิบัติตามกฏเกณฑ์สากลอย่างเคร่งครัด และจะไม่ทำตัวเป็นหัวหน้าใหญ่

ขณะเดียวกันจีนยืนยันว่าธนาคาร AIIB จะไม่ใช่คู่แข่งของธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ดังที่สหรัฐฯและญี่ปุ่นกังวล และพร้อมยินดีต้อนรับทั้งสองประเทศนี้เข้าเป็นสมาชิกได้ตลอดเวลา

ศาสตราจารย์ Barry Naughton เชื่อว่าจีนต้องการให้ทั่วโลกเห็นว่า ธนาคาร AIIB คือส่วนที่เติมเต็มปัญหาขาดแคลนโครงส้รางพื้นฐานทางศก. แต่ก็ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการขยายอิทธิพลด้วยอำนาจนุ่มหรือ Soft Power ของจีนเช่นกัน

ด้านอาจารย์ Jia Qingguo จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เชื่อว่าแม้จีนจะมีทั้งเงินทุนและประสบการณ์ลงทุนในหลายประเทศ แต่จีนยังต้องเรียนรู้อีกมากในด้านการบริหารสถาบันการเงินระดับโลก ทั้งในด้านการรับรองคุณภาพของโครงการที่ให้กู้ และยังต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์ของประเทศสมาชิก 57 ประเทศ ที่ต่างต้องการผลประโยชน์จากธนาคารแห่งใหม่นี้ไม่แพ้กัน

รายงานจากห้องข่าววีโอเอ / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล