เด็กหญิงถูกบังคับแต่งงานก่อนวัยในหลายประเทศทั่วโลก

  • Elizabeth Lee
    Thaksina Khaikaew

เด็กหญิงถูกบังคับแต่งงานก่อนวัยในหลายประเทศทั่วโลก

ปัจจุบันยังมีพ่อแม่บังคับลูกสาวแต่งงานก่อนวัยอันสมควรในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อเร็วๆนี้กลุ่มนักรณรงค์สิทธิผู้หญิง ภริยาผู้นำชาติอาฟริกันหลายชาติและเหยื่อได้ร่วมเสวนากันเกี่ยวกับปัญหาและทางแก้ในงานประชุมที่ลอสเองเจลลีส

เด็กผู้หญิงจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกถูกบังคับให้แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี คุณจาสวินเดอ แซงกีร่า เกิดที่ประเทศอังกฤษในครอบครัวชาวอินเดีย พ่อแม่บังคับให้บรรดาพี่สาวทุกคนของเธอออกจากโรงเรียนที่อังกฤษตอนอายุครบสิบห้าปีแล้วจับแต่งงานกับผู้ชายที่พ่อแม่เลือกให้โดยไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน


คุณจัสวินเดอ แซงกีร่า บอกว่าพอเธออายุสิบสี่ปี แม่ให้เธอดูรูปผู้ชายคนหนึ่งที่พ่อแม่หมั้นหมายให้ตอนเธออายุแค่แปดขวบ เธอปฏิเสธการแต่งงานแล้วหนีออกจากบ้านทำให้พ่อแม่และพี่น้องประกาศตัดญาติเพราะเห็นว่าเธอสร้างความละอายแก่ครอบครัว

คุณจัสวินเดอ แซงกีร่า เล่าว่าแม้ว่าเธอจะเกิดและเติบโตในอังกฤษประเทศพัฒนาแล้ว ครอบครัวของเธอใช้ชีวิตของชาวอินเดียดั้งเดิมที่ยังนิยมให้ลูกสาวออกเรือนให้เร็วที่สุด

เธอบอกว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับชาวอินเดียในอังกฤษที่ให้ลูกสาวแต่งงานกับชายจากอินเดียเพื่อช่วยให้ฝ่ายชายได้สัญชาติอังกฤษ ปัจจุบันเธอหันมาทำงานรณรงค์สร้างความตื่นตัวต่อปัญหาการบังคับเด็กหญิงแต่งงาน

ปัญหาการบังคับลูกสาวออกเรือนก่อนวัยนี้พบมากในกลุ่มคนจากทวีปเอเชียใต้ ทวีปอเมริกาใต้และชาติอาฟริกาที่อยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า และมีเหตุผลแตกต่างกันไป การรักษาศักดิ์ศรีของครอบครัวก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กหญิงถูกจับแต่งงาน

คุณแอน ก็อดดาร์ด จากองค์กรเอกชน Child Fund International บอกว่าพ่อแม่กลัวว่าลูกสาวจะสร้างความละอายแก่ครอบครัวเพราะอาจจเริ่มมีเพศสัมพันธุ์ก่อนแต่งงานและตั้งท้อง จึงบังคับให้แต่งงานไปเสียก่อนเป็นการป้องกันปัญหาล่วงหน้า

ในบางสังคม ความยากจนเป็นสาเหตุหลัก พ่อแม่จับลูกสาวที่ยังอ่อนวัยให้แต่งงานเพราะไม่มีเงินเลี้ยงดูและไม่สามารถส่งเสียให้เรียนหนังสือได้ คุณแอน ก็อดดาร์ดเชื่อว่า การให้เด็กผู้หญิงไปโรงเรียนภาคบังคับให้นานปีขึ้นสามารถยุติการจับเด็กหญิงแต่งงานก่อนวัยอันสมควรได้

ในชาติอาฟริกาบางชาติ ทางการใช้วิธีแจกอาหารแก่เด็กหญิงทุกปลายสัปดาห์เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนให้ครอบครัวของเด็กยอมส่งลูกสาวไปโรงเรียน ทำให้พ่อแม่อ้างไม่ได้ว่าไม่มีเงินเลี้ยงลูกหรือขาดแคลนแรงงานทำมาหาเลี้ยงครอบครัว

คุณแอน วอร์นเน่อร์ จากองค์กร International Center for Research on Women กล่าวว่า กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อปัญหานี้ในสังคมและชุมชนต่างๆทั่วโลก ผู้นำประเทศและองค์กรรากหญ้าควรต้องประสานกันให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของงานและความคืบหน้าในการแก้ปัญหา

แต่คุณจาสวินเดอ แซงกีร่า บอกว่ายังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกับปัญหานี้ในกลุ่มคนเชื้อสายอินเดียในประเทศอังกฤษและในอีกหลายๆประเทศทั่วโลก เธอบอกว่าการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่ใช่แค่ด้วยการให้การศึกษาแก่พ่อแม่เท่านั้น แต่ต้องรณรงค์ให้เด็กสาวรู้ว่าตนเองมีสิทธิ์ในการปฏิเสธการแต่งงานที่พ่อแม่จัดให้