แพทย์พัฒนาเครื่องปั้มหัวใจเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยเด็ก

  • Greg Flakus
ผลการศึกษาเผยถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของเครื่องปั้มหัวใจขนาดเล็กเพื่อผู้ป่วยเด็กที่คิดค้นขึ้นครั้งแรกในเยอรมันนี จึงได้ชื่อว่า Berlin Heart
เด็กชายมาร์โค เมอร์กีย่า อายุ 16 ปีเล่นบาสเก็ตบอลได้และมีชีวิตปกติดีเหมือนวัยรุ่นทั่วไป

แต่เมื่อห้าปีที่แล้ว ตอนอายุเกือบสิบขวบ คอนนี่ เมอร์กีย่า แม่ของมาร์โคสังเกตุเห็นลูกชายมีอาการอ่อนเปลี้ย จึงพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเด็กเท็กซัสในเมืองฮูสตั้น คุณแม่บอกว่าหัวใจของลูกชายปั้มเลือดไม่ทัน ทำให้ตัวลูกซีดเผือด


ทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลพบว่าเด็กชายมาร์โคมีหัวใจอ่อน ทำงานไม่ได้ตามปกติืและลงชื่อรอรับการเปลี่ยนถ่ายหัวใจ เขาต้องใช้เครื่องปั้มหัวใจ Berlin นานสามเดือนในระหว่างรอรับบริจาคหัวใจ

เครื่องปั้มหัวใจนี้มีขนาดพอดีกับขนาดร่างกายของผู้ป่วย อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยหัวใจที่อ่อนแอทำงานสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติโดยใช้ท่อหลายท่อต่อเข้าที่ช่วงอกของผู้ป่วย

นายแพทย์ชาร์ล เฟรเซ่อร์ หัวหน้าแพทย์ผ่าตัดที่โรงพยาบาลเด็กเท็กซัส (Texas Children’s Hospital) เป็นหัวหน้าการทดลองรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเด็กด้วยเครื่องปั้มหัวใจนี้
นายแพทย์เฟรเซ่อร์ กล่าวกับผู้้สื่อข่าววีโอเอว่า หัวใจคนเราต้องสูบฉีดโลหิตให้เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย เครื่องปั้มหัวใจที่ใช้ทดลองรักษานี้จะทำงานตอบสนองตามขนาดของร่างกายผู้ป่วย

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยเด็กที่รอรับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจ จะต้องนอนหลับรอและงดการเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้ป่วยส่วนมากจะรอได้แค่ไม่กี่สัปดาห์ แต่หากใช้เครื่องปั้มหัวใจเบอร์ลิน ผู้ป่วยไม่ต้องนอนหลับตลอดเวลาและสามารถมีชีวิตต่อได้นานถึง 192 วันหรือนานกว่า 6เดือน

นายแพทย์ชาร์ล เฟรเซ่อร์ หัวหน้าแพทย์ผ่าตัดที่โรงพยาบาลเด็กเท็กซัส อธิบายว่า เลือดจะไหลเข้าไปในตัวปั้มผ่านวาวล์ทางเดียว เลือดสามารถไหลได้ทางเดียวตามทางเครื่องหมายลูกศร กลับเข้าไปสู่ร่างกายผู้ป่วย

นายแพทย์เฟรเซ่อร์ได้ใช้เครื่องปั้มหัวใจเบอร์ลินครั้งแรกเมื่อเจ็ดปีที่แล้วกับเด็กทารก เขาบอกว่าผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลว แพทย์ได้ใช้เครื่องปั้มหัวใจเบอร์ลินช่วยรักษาชีวิตเอาไว้จนกระทั่งได้รับการเปลี่ยนถ่ายหัวใจ ปัจจุบันเด็กคนนี้แข็งแรงดี

จากการศึกษา พบว่า ประมาณสามสิบเปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่ใช้เครื่องปั้มหัวใจเบอร์ลินได้รับผลกระทบจากอาการสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงแบบอ่อน แต่นายแพทย์เฟรเซ่อร์กล่าวว่า ความเสี่ยงนี้ถือว่ายอมรับได้ หากพิจารณาจากผลดีของอุปกรณ์ปั้มหัวใจที่ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยเอาไว้

นายแพทย์เฟรเซ่อร์กล่าวว่าเด็กที่ลงชื่อรอรับการปลูกถ่ายหัวใจใหม่ มักมีโอกาสรอดน้อยหากไม่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจ นายแพทย์เฟรเซ่อร์หวังว่าการศึกษาครั้งนี้จะช่วยพัฒนาอุปกรณ์ปั้มหัวใจให้ดีขึ้นไปอีกเพื่อเด็กอย่างมาร์โค้ เมอร์กียา จะได้มีชีวิตรอดต่อไปได้และใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กคนอื่นๆทั่วไป