ครูฝึกตำรวจชิคาโกเชื้อสายไทย: กรณี 'จอร์จ ฟลอยด์' คือแผลเป็นของวงการตำรวจสหรัฐฯ

A Thai-American Chicago PD Academy instructor , Officer Trak Silapaduriyang talks with VOA Thai.

คุยกับครูฝึกและผู้เชี่ยวชาญพิเศษเชื้อสายไทยที่โรงเรียนฝึกตำรวจนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์(Chicago PD) กับความเห็นและหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐฯหลังกรณีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจที่ทำให้นายจอร์จ ฟลอยด์ชายชาวผิวสีที่รัฐมินนิโซตาเสียชีวิตและเป็นเหตุการชุมนุมประท้วงในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ

Your browser doesn’t support HTML5

Chicago PD on Floyd Part 1

“ในวงการตำรวจสหรัฐฯผมพูดได้เลยว่า มันเป็นสิ่งที่เราอายมาก เป็นสิ่งที่เสียกับในวงการตำรวจมาก เรามีเพื่อนตำรวจที่นครลอสแอนเจลิส (LAPD) หรือ ตำรวจที่นครนิวยอร์ก (NYPD) ก็จะคุยกัน จากโรงเรียนสอนตำรวจหลายแห่ง เราก็จะปรึกษากันตลอด คือตอนนี้มันสิ่งที่ถือเป็น "แผลเป็น" ของวงการตำรวจ เพราะว่า เราไม่ฝึกแบบนี้ ไม่ปฏิบัติงานแบบนี้ มันไม่ได้อยู่ในตำราเลยครับที่จะเอาหัวเข่าดันให้คนนี้เสียชีวิต..”

คำยืนยันของ เจ้าหน้าที่ ‘ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์’ ครูฝึกและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จากโรงเรียนฝึกตำรวจนครชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ บอกถึง ปฏิกิริยาจากวงการครูฝึกตำรวจในสหรัฐอเมริกาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวผิวสีวัย 46 ปีที่เสียชีวิตระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนครมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตา ควบคุมตัว เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

A Thai-American Chicago PD Academy instructor , Officer Trak Silapaduriyang .

หลักปฏิบัติในกฎการใช้กำลังต้องชัดเจน

ครูฝึกตำรวจเชื้อสายไทย ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านกฎการใช้กำลัง หรือ Use of Force ของ ‘Chicago PD’ ย้ำว่า แนวทางการฝึกและหลักปฏิบัติการด้านยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนั้น จะมีหลักปฏิบัติชัดเจน ตั้งแต่การใส่กุญแจมือ หรือการเรียกกำลังเสริมในกรณีที่จำเป็นทางยุทธวิธี ส่วนการจับผู้ต้องหานอนคว่ำหน้านั้น จะใช้เมื่อต้องการควบคุมสถานการณ์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

มันเป็นสิ่งที่เราอายมาก เป็นสิ่งที่เสียกับในวงการตำรวจมาก มันเป็นแผลเป็นของวงการตำรวจ...
ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์ ครูฝึกตำรวจและผู้เชี่ยวชาญ Chicago PD

ในการฝึกยุทธวิธีของตำรวจ เราใช้ตำแหน่งที่จะให้คนร้าย หรือ ผู้ต้องหา นอนอยู่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัย (กับเจ้าหน้าที่) ที่สุด พอใส่กุญแจมือปุ๊บ เราต้องพลิกเขาขึ้นข้างๆทันที หรือไม่ก็ให้ขึ้นมานั่ง แต่จะให้ช่วงที่อยู่ที่คว่ำหน้าลงให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพราะการฝึกของเรา เราต้องให้ความสำคัญของการหายใจของคนทุกที่เราจับกุม..” ตระกูลรักษ์ ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ไทย

การใช้เข่ากดคอผู้ต้องหาขณะใส่กุญแจเมือ คือ ข้อห้าม!

ครูฝึก 'ตระกูลรักษ์' ย้ำว่า การใช้น้ำหนักตัว หรือ หัวเข่า กดลงไปที่คอหรือตัวผู้ต้องหาในขณะที่ใส่กุญแจมืออยู่กับพื้นนั้นถือเป็นข้อห้ามสำหรับการปฏิบัติในองค์กรตำรวจหลายแห่งทั่วอเมริกา

“เดี๋ยวนี้การฝึกตำรวจที่ชิคาโก ไม่ต่ำว่า 10 ปีมาแล้วที่มีการห้าม โดยมีกฎระเบียบออกมาแล้ว ผมยังจำได้เมื่อปี ค.ศ.2008-2009 มีกฎออกมาเลยว่า ห้ามเอาเข่าไปวาง หรือน้ำหนักตัวไปวาง ตรงคอหรือตรงไหล่ ถ้าเราใส่กุญแจมือแล้ว เพราะจะทำให้มีอาการ Positional asphyxia หรืออาการหายใจไม่ออก หรือกดทับทางเดินหายใจ..

Demonstrators clash with police officers on Whitehall during a Black Lives Matter protest near Downing street in London, following the death of George Floyd who died in police custody in Minneapolis, June 6, 2020.

..เราไม่ฝึกแบบนี้ ไม่ปฏิบัติงานแบบนี้ มันไม่ได้อยู่ในตำรา ที่จะเอาหัวเข่าดันให้คนนี้เสียชีวิต..
ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์ ครูฝึกตำรวจและผู้เชี่ยวชาญ Chicago PD

..ที่ผมเห็นมาในประสบการณ์ของผมตั้งแต่ฝึกมา แล้วก็ทำงานบนถนนมา 7-8 ปี ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนฝึกตำรวจ ลองคิดดูว่าในการเผชิญหน้ากับตำรวจเป็นเรื่องธรรมดาที่ทั้งผู้ต้องหาหรือตำรวจ หรือแม้แต่ผมเองก็มีอาการตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง มีการสูบฉีด สารอะดรีนาลีน ในร่างกาย มากกกว่าปกติ. และจะหายใจแรงขึ้น เพราะต้องการออกซิเจน การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนนี้ใช้เข่าดันกดทับอยู่ บางทีคุณฟลอยด์อาจจะไม่ตั้งใจว่าจะลุกขึ้น คนที่เอาเข่าดันอยู่ก็เหมือนกับว่าผู้ต้องหาพยายามขัดขืน แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ขัดขืนเพียงแต่เขาพยายามดิ้นเพื่อหายใจ เหมือนเรารู้สึกจะจมน้ำ ก็ต้องพยายามดิ้นเพื่อหายใจให้ได้ อาจจะทำให้ตำรวจนายนั้นคิดว่าฟลอยด์จะขัดขืน” ครูฝึกตำรวจ ชิคาโก พีดี เล่าประสบการณ์ตรง

ชำแหละข้อผิดพลาด แม้แต่ตำรวจด้วยกันยังรับไม่ได้

ในฐานะครูฝึกตำรวจในอเมริกาที่มีประสบการณ์ทั้งการจับคนร้าย และเป็นครูฝึกมานานกว่า 18 ปี ทำให้เจ้าหน้าที่ตระกูลรักษ์ ต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาศึกษาวิเคราะห์ ขั้นตอนปฏิบัติ ที่นำไปสู่ข้อผิดพลาดของเหตุการณ์ดังกล่าว

“แล้วที่สำคัญ เรื่องใหญ่ คือ มันมีเวลาครับ มีเวลาตั้ง 8-9 นาทีตั้งแต่เอาฟลอยด์ลงนอนหน้าคว่ำกับพื้นแล้วที่เขาเริ่มเข่ากดลงไป ที่ผมจะพูดเรื่องที่สำคัญที่สุด คือมันมีเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจะตัดสินใจให้ได้ว่า ควรทำอะไรต่อไป ควรหรือไม่ควร ไม่เหมือนกันกับการที่ตำรวจตัดสินใจยิง หรือว่าโดนยิง หลายครั้งที่เผชิญเหตุในกรณีที่คนร้ายมีอาวุธปืน ที่อาจจะเป็นเสี้ยววินาทีที่ตร.ต้องตัดสินใจ ที่อาจเกิดความผิดพลาดแต่ในกรณีฟลอยด์นี้ไม่ใช่ นี่คือเรื่องที่ใหญ่มาก และเป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้ในเรื่องนี้ แต่ที่รับไม่ได้มากกว่านั้นคือว่า มีตำรวจอีก 3 นายที่เห็น และควรที่จะรู้ ถ้าเราเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วเราเห็นว่าคู่หูเรา หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกคนทำอะไรที่ผิดอยู่ หน้าที่ของเราจะต้องหยุดยั้งเขาทำทันที ถ้าเราไม่หยุดยั้งเขา ก็หมายความว่าเราโอเคในสิ่งที่เขาทำ หากพบว่าผิดก็จะต้องผิดด้วยกัน"

FILE - In this Monday, May 25, 2020, file frame from video provided by Darnella Frazier, a Minneapolis officer kneels on the neck of George Floyd, a handcuffed man who was pleading that he could not breathe. The death of Floyd has renewed scrutiny of immo

"เจ้าหน้าที่ตำรวจฝึกกันในอเมริกา ถ้าเราจับผู้ร้ายแล้ว ไม่ว่าจะแค่ขโมยของ ฆ่าคนตาย อะไรก็แล้วแต่ ความสำคัญก็คือว่า คนนี้ๆ จะเป็นความรับผิดชอบของเรา His well being (การดำรงอยู่) คืออยู่ในความรับผิดชอบของเรา กฎก็คือ sanctity of live (การเคารพต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์) preservation of life (การรักษาไว้ซี่งชีวิตเพื่อนมนุษย์) เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตระหนักเรื่องนี้ไว้ให้มาก" ตระกูลรักษ์ ครูฝึกตำรวจแห่งชิคาโก ย้ำแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

ติดตามความคิดเห็นและมุมมองจากประสบการณ์ของ ‘ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์ ของครูฝึกตำรวจเชื้อสายไทยในโรงเรียนฝึกตำรวจชิคาโก เกี่ยวกับบทเรียนและผบกระทบที่เกิดขึ้นในวิกฤตศรัทราในวงการผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่สหรัฐฯอเมริกา