สัมภาษณ์: “รมต. ชัยวุฒิ” ถึงพรรคพลังประชารัฐในโค้งสุดท้ายศึกเลือกตั้ง

Thai Digital Economy and Society Minister Chaiwut Thanakamanusorn gives an exclusive interview to VOA Thai Service

วีโอเอไทยสัมภาษณ์ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถึงแนวทางพรรคในช่วงโค้งสุดท้ายของศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 จุดยืนต่อการโหวตเลือกนายกฯ ของ สว. รวมถึงความเชื่อมั่นต่อการทำงานของ กกต.

วีโอเอไทย ถาม: ช่วงนี้เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ได้เห็นประเด็นใหม่ ๆ มาเยอะมาก พรรคพลังประชารัฐมีแนวทางในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง

ชัยวุฒิ: ในส่วนของการเมืองโค้งสุดท้ายในตอนนี้ ก็คงเป็นเรื่องของประชาชนว่าจะเชื่อกลุ่มไหน จะเป็นกลุ่มเพื่อไทย กลุ่มก้าวไกล หรือว่ากลุ่มพรรครัฐบาลเดิมซึ่งประกอบด้วยหลายพรรค ในหลายพื้นที่ก็หาเสียงแข่งกันเองด้วย วันนี้ก็คาดเดายากเหมือนกันว่าพรรคไหนจะได้เสียง ส.ส. เท่าใด เพราะดูหลายพื้นที่แล้วก็คะแนนสูสีกัน

วีโอเอไทย ถาม: ทางฝั่งอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่าจะเดินทางกลับไทย แล้วทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐคิดว่าจะมีการปล่อย “หมัดเด็ด” อะไรในช่วงการหาเสียงโค้งสุดท้ายนี่หรือไม่

ชัยวุฒิ: เรื่องของคุณทักษิณก็มีการพูดมาเป็นระยะ ถ้าเป็นเรื่องของคะแนนนิยมก็ชัดเจนว่าใครชอบก็เลือก ใครไม่ชอบก็ไม่เลือก ผมว่ามันก็คงไม่ได้เปลี่ยนใจคนแล้ว ก็คงคาดเดาได้ว่าไม่ได้ทำให้คะแนนนิยมเปลี่ยน ไม่ส่งผลกับฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐเพราะเป็นข้อมูลที่เรารู้อยู่แล้วว่า คนที่เลือกฝั่งนั้นก็ไม่เลือกฝั่งเราอยู่แล้ว

Thai deputy prime minister Gen Prawit Wongsuwan (left) and Digital Economy and Society Minister Chaiwut Thanakamanusorn (right)

วีโอเอไทย ถาม: พรรคพลังประชารัฐประเมินภาพรวมฐานเสียงของทางพรรคไว้อย่างไรบ้าง การแข่งขันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย จะช่วยสร้างแต้มต่อให้พรรคพลังประชารัฐหรือไม่

ชัยวุฒิ: เวลาลงพื้นที่ อย่างแรกคือมีกระแสนิยมพรรค ฐานแฟนคลับ หรือว่ากระแสจากแต่ละช่วงที่มีการสำรวจความเห็น ก็จะเห็นว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมที่ค่อนข้างดี ขณะที่พรรคฝั่งรัฐบาลก็มีหลายพรรค ทำให้มีการตัดคะแนนกันเอง ทำให้คะแนนนิยมก็อาจดูไม่เยอะ

แต่เวลาเลือกตั้งในแต่ละเขต ตามยุทธศาสตร์แล้ว ต้องให้ ส.ส. หรือผู้สมัครในพื้นที่ ลงพื้นที่ ดึงประชาชนมา เช่น การสร้างความเชื่อมั่นว่า เมื่อเราเป็น ส.ส. แล้ว เราจะเป็นตัวแทนของพื้นที่และช่วยชาวบ้านในการพัฒนาจังหวัด ในการทำงานต่าง ๆ และยังมีพลังเงียบอีกเยอะที่ยังเชื่อมั่นในพรรคฝั่งรัฐบาล

หลังการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าเสียงของพรรคฝั่งร่วมรัฐบาลเดิม รวมแล้วอย่างไรก็น่าจะได้เกินครึ่ง

วีโอเอไทย ถาม: มีแนวทางในการจับขั้วทางการเมืองอย่างไรหลังการเลือกตั้ง เพื่อสะท้อนถึงแนวทาง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐชูมาโดยตลอด

ชัยวุฒิ: การก้าวข้ามความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเดียว อย่างแรกคือการจัดตั้งรัฐบาลต้องมาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นตัวแทนที่มีความชอบธรรมจากประชาชน อย่างที่สองก็คือต้องให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ให้ประชาชนร้องเรียนหรือไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งว่ามีการทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องช่วยกัน ทั้งผู้ลงสมัครและ กกต. ก็ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้

อย่างที่สามคือ การก้าวข้ามความขัดแย้งเป็นเรื่องของหลังการเลือกตั้งด้วย พรรคพลังประชารัฐมีแนวทางที่อยากจะประสาน พูดคุยกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย เอาข้อเท็จจริงและข้อมูลมาคุยกัน และหาทางออกด้วยกันว่าอะไรที่เราสามารถร่วมมือกันเพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด และเพื่อไม่ให้ทะเลาะขัดแย้งกัน เช่น เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบางอย่าง ก็ต้องเปิดให้มีการพูดคุยกัน

วีโอเอไทย ถาม: พรรคพลังประชารัฐมีเงื่อนไขในการจับมือกับพรรคต่าง ๆ อย่างไรบ้าง มองเห็นความเป็นไปได้กับการร่วมจับมือกับพรรคฝ่ายค้านไว้บ้างหรือไม่

ชัยวุฒิ: โดยหลักการ พรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีอคติหรือมีมุมมองว่าจะจับหรือไม่จับมือกับใคร เราบอกว่าเราสามารถร่วมงานได้กับทุกคน ก็เป็นแนวทางในการก้าวข้ามความขัดแย้ง เราต้องพูดคุยและทำงานด้วยกันทุกคน แต่นโยบายบางอย่าง ถึงเวลาร่วมรัฐบาล ถ้ามันไปด้วยกันไม่ได้ หรือไม่เห็นพ้องต้องกัน ก็คงร่วมรัฐบาลไม่ได้ ถึงเวลาก็คงได้มาพูดคุยกัน

แต่ผมว่าก็เห็นสัญญาณอยู่แล้วว่าอย่างพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เขาก็พูดอยู่แล้วว่าเขาจะไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว เราก็คงไม่ต้องไปประกาศ ก็ถือว่าเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว

Digital Economy and Society Minister Chaiwut Thanakamanusorn appears during a campaign for his Phalang Pracharath Party

วีโอเอไทย ถาม: มีกระแสถึงการตั้งคำถามต่อการทำงานของ กกต. ในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไทยเมื่อวันที่ 7 .. ที่ผ่านมา ทางพรรคพลังประชารัฐประเมินการทำงานของ กกต. อย่างไรบ้าง ได้รับการร้องเรียนถึงความผิดปกติในการเลือกตั้งวันดังกล่าวหรือไม่

ชัยวุฒิ: ต้องให้ความเป็นธรรมกับทาง กกต. ด้วย เพราะมีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า 2 ล้านกว่าคน ในหลายพื้นที่ก็มีผู้มาใช้สิทธิ์หลายหมื่นคน การใช้สิทธิ์ก็อาจมีความแออัดบ้าง มีความผิดพลาดโดยมนุษย์บ้าง เท่าที่ผมได้ฟังก็ไม่ได้เป็นสาระสำคัญหรือเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการทุจริต หรือทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม มันก็อาจมีบางจุดที่กรอกข้อมูลผิด หรือรอคิวนานไป

วีโอเอไทย ถาม: ประเมินจากการทำงานของ กกต. ในวันเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว มีความมั่นใจต่อ กกต. ในวันเลือกตั้งจริง ในวันที่ 14 .. ใช่หรือไม่

ชัยวุฒิ: ถ้ามองจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาและในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาในการทุจริตหรือการโกงการเลือกตั้งแน่นอน เพราะเขามีมาตรฐานที่ดี มีกฎหมายรองรับ มีอำนาจหน้าที่เต็มที่ แต่เรื่องการนับคะแนนผิดพลาดบ้างในบางหน่วยเลือกตั้ง หรือบางจุดมีปัญหา มันก็อาจมีได้บ้าง แต่คงไม่มีผลกับการเลือกตั้งในภาพรวม

วีโอเอไทย ถาม: ทางพรรคพลังประชารัฐคิดว่า สว. ควรมีจุดยืนในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ อย่างไร ควรออกเสียงตามพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุดหรือไม่ และเมื่อพิจารณาว่า สว. กำลังจะหมดเทอมการทำงานในอีกสองปี ซึ่งจะหมดก่อนเทอมการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง

ชัยวุฒิ: ในการที่จะบริหารประเทศ รัฐบาลต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย โหวตงบประมาณไม่ผ่าน เวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ถูกโหวตตกไป ก็ทำงานไม่ได้ อย่างไรรัฐบาลก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

ประการที่สองคือ สว. มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งก็เหมือนกฎหมาย กฎหมายบางฉบับที่ผ่าน ส.ส. แต่อาจมีปัญหา สว. ก็มีอำนาจยับยั้ง ไม่เห็นชอบกับกฎหมายที่ ส.ส. ผ่าน และเช่นเดียวกัน หาก ส.ส. เสียงข้างมากเสนอนายกฯ แล้วเห็นว่าเป็นชื่อที่ สว. เห็นว่ามีปัญหา เขาก็มีสิทธิ์ที่จะยับยั้งเหมือนยับยั้งกฎหมาย เพราะเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขียนไว้แบบนั้น เป็นไปตามกติกา ซึ่งผมว่าเราก็ต้องเคารพกติกา เพราะเราก็เข้ามาเลือกตั้งตามกติกาแล้ว

ส่วนจะบอกว่าเหมาะสมหรือไม่นั้น ผมขอไม่ออกความเห็น ถือว่าเป็นข้อยุติและเป็นไปตามกติกา เรื่องของการแก้ไขก็ขอให้เป็นเรื่องในอนาคต

วีโอเอไทย ถาม: คิดเห็นอย่างไรต่อข้อวิจารณ์ที่ว่า การที่ สว. สามารถลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ ได้ ส่งผลต่อการตัดสินใจของพรรคต่าง ๆ ในการจับขั้วเพื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ชัยวุฒิ: ผมขอไม่ออกความเห็น เป็นเรื่องของการคาดเดา เอาไว้ถึงวันนั้นแล้วค่อยมาว่ากัน