5 สุดยอดอุปกรณ์ไฮเทคใช้ได้จริง ในงานแสดงสินค้าอิเลคทรอนิกส์ CES 2018

Blue Frog Robotic

Your browser doesn’t support HTML5

อุปกรณ์ไฮเทคที่ใช้ได้จริง ในงานแสดงสินค้าอิเลคทรอนิกส์สหรัฐฯ

งานแสดงสินค้าอิเลคทรอนิกส์งานใหญ่ประจำปี International Consumer Electrics Show หรือ CES 2018 ที่นครลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา นอกจากจะเป็นงานที่รวบรวมนวัตกรรมแห่งอนาคตที่หลายคนอาจมองว่าจับต้องไม่ได้ ราคาเอื้อมไม่ถึง และหากคำนึงถึงประโยชน์แล้วยังคงอีกยาวไกลที่จะนำไปใช้ วันนี้ VOA ภาคภาษาไทย จะหยิบยกอุปกรณ์ไฮเทค ซึ่งสามารถใช้ได้ในแง่ราคาและศักยภาพกันบ้าง

ปุ่มตรวจจับแสงยูวีสวมใส่ได้ (Wearable UV Sense)

UV Patch รุ่นล่าสุด ที่เตรียมวางจำหน่ายในฤดูร้อนปีนี้

อุปกรณ์นี้พัฒนาโดย L’Oréal’s USA ที่เคยเปิดตัว My UV Patch แผ่นแปะผิวหนังเพื่อใช้ตรวจสอบว่าผิวถูกแดดมากน้อยแค่ไหน เมื่อ 2 ปีก่อน มาคราวนี้ ทางแบรนด์ La Roche-Posay บริษัทในเครือ L’Oréal’s ได้พัฒนาให้เป็น UV Sense ซึ่งจะนำมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในช่วงหน้าร้อนปีนี้

UV Patch รุ่นเก่าเมื่อปี 2559

ลักษณะของ UV Sense จะเป็นเหมือนเม็ดกระดุมสีฟ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 มิลลิเมตร หนา 2 มิลลิเมตร สามารถติดลงบนปลายเล็บได้นานถึง 2 สัปดาห์ สามารถตรวจจับปริมาณแสงแดดที่สัมผัสกับผิว ละอองเกสรดอกไม้ รวมทั้งตรวจสอบปริมาณครีมกันแดดที่ทาลงบนผิว ก่อนจะส่งผลดังกล่าวไปยังสมาร์ทโฟนของคุณได้ อุปกรณ์นี้ไม่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี สามารถใช้ในกิจกรรมแทบทุกอย่าง ทั้ง กิน เดิน ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ อาบน้ำ และสามารถทาครีมกันแดดทับลงไปได้

สำหรับราคาทาง L’Oréal’s ตั้งเป้าไว้ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,300 บาท

สุดยอดนักแปล 80 ภาษาแบบเรียลไทม์ (Travis the Translator)

Translator Machine

สำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากมี “วุ้นภาษา” อุปกรณ์สุดล้ำจากกระเป๋าโดเรมอน วันนี้อุปกรณ์ดังกล่าวนำมาวางขายอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการนวัตกรรม Pre-order ของเว็บไซต์ระดมทุน Indiegogo ซึ่งมีผู้สั่งจองเป็นจำนวนเงินกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์ก่อนการผลิตจริง

โดย Travis the Translator ขนาดเท่าโทรศัพท์รุ่นฝาพับแบบดั้งเดิม พร้อมซิมการ์ด รองรับ Wi-Fi ในการแปล 80 ภาษาแบบเรียลไทม์ รวมถึงภาษาไทยด้วย และใช้งานได้ 20 ภาษาแบบออฟไลน์ หรือ ไร้อินเตอร์เน็ต เพียงแค่ตั้ง 2 ภาษาที่ต้องการพูดและแปลลงไป ระบบจะทำการแปลให้คุณทันที ซึ่งกูรูเทคโนโลยียกให้เป็นอุปกรณ์แปลภาษาที่ดีที่สุดในยุคนี้

สำหรับราคา เริ่มต้นที่ 179 ดอลลาร์ หรือราว 5,700 บาท เฉพาะตัวเครื่อง และ 199 ดอลลาร์ สำหรับเครื่องพร้อมซิมการ์ด 1 GB ใช้ได้ทั่วโลก

เครื่องสแกนเอกสารพกพาได้ (The Pup Pocket)

Pup Scanner

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มาจากแหล่งระดมทุน Indiegogo เหมือนกัน คือ เครื่องสแกนเอกสาร The Pub Pocket ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากฝรั่งเศส การันตีว่าเป็นเครื่องสแกนที่เร็วที่สุดแห่งยุค ด้วยขนาดที่เล็กกว่าสมาร์ทโฟนครึ่งหนึ่ง แต่ฟังก์ชันไม่ธรรมดา The Pub Pocket สามารถสแกนทุกเอกสารได้เพียงคลิกเดียว เพื่อให้ได้เอกสารที่คมชัด รวมทั้งจัดเก็บเอกสารและส่งข้อมูลต่อไปได้ด้วยปลายนิ้ว

Pup Scanner

หากคุณเป็นคนที่ชอบสรรหาไอเดียหรือการทำงานนอกสถานที่ สแกนเนอร์ The Pub Pocket น่าจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจ สำหรับราคาก็น่ารักตามขนาด ที่ 299 ดอลลาร์

เครื่องสแกนครอบจักรวาล (LinkSquare)

LinkSquare เครื่องสแกนครอบจักรวาล

หลังจากใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ คุณอาจจะมองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ด้วยสแกนเนอร์สารพัดนึกของ LinkSquare ที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถตรวจสอบได้ทุกอย่าง เช่น เนื้อหมูที่ซื้อมาใกล้เสียหรือยัง ตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Salmonella หรือ E. Coli สาเหตุของอาหารเป็นพิษอันดับต้นๆ ตรวจสอบการเจริญเติบโตของต้นไม้ ตรวจสอบว่าธนบัตรที่ได้มาเป็นธนบัตรปลอมหรือไม่ รวมทั้งยาที่คุณรับมาจากร้านขายยานั้น ใช่ยาที่รักษาที่ถูกต้องหรือเปล่า?

ใครอยากได้เครื่องสแกนขนาดเท่าปากกาเน้นข้อความที่ศักยภาพยิ่งใหญ่เกินตัว ก็สั่งซื้อมาได้ ที่ราคา 299 ดอลลาร์

หุ่นยนต์ผู้ช่วยในบ้านสายแบ๊ว (BUDDY)

หากคุณประทับใจกับผู้ช่วยในบ้านสุดอัจฉริยะ แต่ติดที่รูปลักษณ์ที่แสนธรรมดา ในปีนี้งาน CES 2018 ขนทัพหุ่นยนต์ผู้ช่วยในบ้านที่หน้าตาเป็นมิตรมากมาย ทั้งหุ่นยนต์ BUDDY รุ่นล่าสุดของบริษัท Blue Frog ซึ่งปีนี้มาด้วยดวงตากลมโต ลีลาการเต้นพร้อมมุกตลกสุดน่ารัก ประกอบกับฟังก์ชันผู้ช่วยดูแลบ้านที่ครบครัน จึงกลายเป็นขวัญใจในงานนี้ไปได้ไม่ยาก

ใครอยากได้เพื่อนคู่ใจประจำบ้านที่แสนเป็นกันเอง ก็จับจองกันได้ที่ราคา 1,500 ดอลลาร์ หรือราว 48,000 บาท โดยจะจำหน่ายอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้